ประสบการณ์จริงจากพนักงานต้อนรับสนามมวย 28 วันกับการรักษาโควิด-19 จนหาย
วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ โต้ง วุฒิศักดิ์ ม่วงไหมทอง พนักงานต้อนรับที่สนามมวย คอยดูแลนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งที่สนามลุมพินีและราชดำเนินมานาน 7 ปีแล้ว ย้อนกลับไปในเดือนมกราคมตอนที่มีข่าวเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นช่วงแรกๆ เขาก็รู้สึกกังวลและตื่นตัวแต่แรก เพราะด้วยลักษณะงานที่ต้องเจอกับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกอยู่ทุกวัน เขาเป็นพนักงานเพียงไม่กี่คนที่สวมหน้ากากอนามัยในตอนนั้น แต่สุดท้ายหวยก็มาออกที่เขาจนได้...เมื่อตรวจพบว่าเชื้อได้เข้าไปอยู่ในร่างกายของเขาเรียบร้อยแล้ว
COVID-19 ติดได้ แม้ใส่หน้ากากป้องกัน
“ช่วงแรกๆ ที่มันระบาดที่จีน เราคิดว่ามันควรจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ แต่ก็ยังมีการปล่อยนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะเราทำงานตรงนี้เราเห็นว่านักท่องเที่ยวยังเข้ามาอยู่ทุกวันๆ อาจเพราะไม่มีใครคิดว่ามันจะร้ายแรงขนาดนี้ ตั้งแต่แรกเรารู้สึกกังวลและเห็นว่ามันอันตราย เราก็ใส่หน้ากาก คิดว่าป้องกันอย่างดีแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ติดขึ้นมาได้”
เริ่มมีอาการไข้ และปวดเมื่อยตามตัว
“เราเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยตัวตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม เลยตัดสินใจลางาน หยุดพักอยู่บ้านและกินยาพารา จนวันที่ 12-13 ก็รู้สึกดีขึ้น ไข้ไม่มี อาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวก็หายไป และในวันเดียวกันคือวันที่ 13 แมทธิว ดีน พิธีกรรายการมวย ออกมาประกาศว่าเขาตรวจพบเชื้อโควิด-19 เขาชี้ชัดเลยว่าติดมาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม เพราะแมทธิวไปสนามมวยวันนั้นวันเดียว ซึ่งเราก็ทำงานอยู่ที่นั่นในวันนั้น”
จังหวะระทึก...วินาทีทราบผลตรวจ
หลังจากทราบข่าว เขาจึงตัดสินใจไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราชวันที่ 14 มีนาคม แม้ว่าอาการป่วยของเขาจะดีขึ้นแล้วก็ตาม “เรานั่งรอผลตรวจ 7-8 ชม จนในที่สุดเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เข็นรถเข็นตรงมาที่เราและแจ้งว่าผลตรวจเป็นบวก ใจมันรู้สึกหวิวๆ เคว้งๆ เพราะตอนนั้นคนติดเชื้อยังไม่ถึงร้อยคนเลย แต่ก็ไม่ได้วิตกมากเพราะเราเชื่อในทีมแพทย์ศิริราช เชื่อว่าเราจะต้องหายได้”
“การกักตัว 14 วัน ทางการแพทย์ทั่วโลกได้วิจัยมาแล้วว่าต่อให้คุณติดเชื้อ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม หากครบ 14 วันเชื้อจะตายแล้วทั้งหมดและไม่สามารถแพร่ต่อได้”
Effect ที่เกิดขึ้นคือคนรอบข้างถูกสังคมรังเกียจ
แต่สิ่งที่เขากังวลคือเอฟเฟคที่เกิดกับคนรอบข้าง “ด้วยความที่เราหวังดีกับคนรอบข้าง เราโพสต์ลงไปในเฟสบุ๊คส่วนตัวเลยว่าเราติดนะ ใครที่ใกล้ชิดกับเราในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาในระวังตัวและสังเกตตัวเอง จริงๆ บ้านและครอบครัวเราอยู่ชุมพร แต่มาทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพ กลายเป็นว่าครอบครัวที่ชุมพรก็ได้รับผลกระทบไปด้วย นายอำเภอมาหาพ่อเราถึงบ้าน กักตัวพ่อ 3 วัน แล้วพาไปตรวจเชื้อ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้กลับชุมพรมานานเกิน 2 อาทิตย์แล้ว ดังนั้นเขาไม่มีความเสี่ยงแน่ๆ หรืออย่างเพื่อนสนิทเราที่เตะบอลด้วยกัน ก็โดนคนในคอนโดไล่ออกให้ไปกักตัวที่อื่น”
Process ของของกรมควบคุมโรค
“ตอนตรวจเจอเชื้อ กรมควบคุมโรคโทรมาหาเพื่อเช็ก timeline ของเราทั้งหมดว่ามีใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง ซึ่งเขาจะมีขั้นตอนการสกรีนของเขาอยู่แล้ว คนที่เจอเราก่อนมีอาการถือว่าไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้ใช้ชีวิตได้ปกติ ส่วนคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือคนที่เจอเราหลังจากที่มีอาการแล้ว และจะต้องกักตัว 14 วัน หากมีอาการก็จะต้องได้รับการตรวจ พอมีขั้นตอนที่ชัดเจนแบบนี้มันก็สบายใจได้ แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่รู้”
เริ่มต้นการรักษาและทดลองยา
หลังจากผ่านการคัดกรองมาแล้ว เขาก็เข้าสู่กระบวนการรักษา “เราได้อยู่ในห้องความดันลบ 2 วันเพื่อเช็คดูอาการ ซึ่งทีมแพทย์จะประเมินว่าอาการมีมากน้อยแค่ไหน พอไม่มีอาการก็ได้ย้ายมาอยู่ห้องเดี่ยวอีก 2 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงแรกๆ ของโรคนี้ เลยมีขั้นตอนการทดลองยา เราได้ยาต้านไวรัส HIV กับยาต้านไวรัสมาลาเรียทั้งหมด 5 วัน ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เราผะอืดผะอม กินอะไรไม่ได้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และท้องเสีย นอกจากนี้ก็ได้ยารักษาตามอาการทั่วไป หลังจากกินยาครบหมอก็จะปล่อยให้ร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกัน และรอให้เชื้อค่อยๆ ตาย กลายเป็นซากไวรัส ซึ่งหลังจากผู้ป่วยชุดแรกๆ ได้ทดลองยาไปแล้ว ก็มีการปรับสูตรสำหรับผู้ป่วยชุดหลัง เพื่อประสิทธิภาพการรักษาและผลข้างเคียงน้อยที่สุด”
ความเครียดหายไป ถูกแทนที่ด้วย ‘มิตรภาพ’
พอหยุดยาต้านไวรัส เขาก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นและได้ย้ายมาอยู่ที่วอร์ดรวม “ได้อยู่กับคนเยอะๆ ได้แชร์ประสบการณ์ อ๋ออาการนี้เราเป็นเหมือนกันนี่ อ้าวทุกคนเป็นเหมือนกัน ทุกคนผ่านจุดนั้นมาเหมือนกันหมด ก็เลยรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายมากขึ้น วอร์ดรวมมันดีตรงนี้แหละ” หลังจากพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชมา 16 วัน เขาก็ย้ายไปพักฟื้นที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาอีก 12 วัน และได้เจอเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย “ตอนเย็นไม่มีอะไรทำเราก็รวมตัวกันมาออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมทำอย่าง TikTok ซึ่งก็ช่วยทำให้ความเครียดหายไปเลย”
หลังจากที่รักษาจนหายดีแล้ว เขาก็มีแพลนที่จะบริจาคพลาสม่าเพื่อนำไปวิจัยเพื่อที่จะทำยารักษาต่อไป และอยากจะฝากข้อความของ ผอ. ศูนย์การแพทย์กาญจนา ที่อยากจะบอกทุกคนว่า สำหรับผู้ป่วยที่หายดีแล้วขอให้มั่นใจได้เลยว่าพวกเขาไม่มีโอกาสแพร่เชื้อ และอยากให้ปฏิบัติกับเขาเหมือนคนปกติทั่วไป