บ้านหมุน...อีกหนึ่งอาการที่ไม่ควรปล่อยผ่าน
พูดถึงอาการเวียนศีรษะ และเห็นภาพคล้ายสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัว หรือที่เราเรียกว่าอาการบ้านหมุน จริงๆ แล้วอาการนี้เกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอาการทางสมอง หรือการพักผ่อนน้อย แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงอาการบ้านหมุนที่เกิดจากการผิดปกติบางอย่างในหูชั้นใน และเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เราจะนำบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี มาเปิดเผยให้ทุกคนได้รู้กันรู้หรือไม่ หูของคนเราทำหน้าที่ในการควบคุมทรงตัวด้วย
หูของคนเราประกอบไปด้วย หูชั้นนอก คือ ใบหู ช่องรูหู และเยื่อแก้วหู หูชั้นกลาง ซึ่งภายในจะมีกระดูกขนาดเล็กๆ ชื่อกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ทำหน้าที่นำเสียง ภายในสุดจะเป็นหูชั้นใน ซึ่งจะมีอวัยวะรับเสียง นอกจากนั้นยังมีอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวในหูชั้นในด้วย ซึ่งอวัยวะนี้ จะมีน้ำอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อเราเปลี่ยนแปลงท่าทาง เช่น ก้มหรือเงย หรือหมุนตัว น้ำนี้ก็จะเกิดการไหลไปมา แปลงเป็นสัญญาณประสาทให้สมองรับรู้ และเกิดการทรงตัวที่เหมาะสม ทำให้เราไม่มีอาการเวียนหัว
อาการบ้านหมุนที่เกิดจากน้ำในหู
หลายๆ คนคงพอเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจมากนักว่าน้ำเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ยังไง และมีประโยชน์อะไรต่อร่างกาย จริงๆ แล้วน้ำในหูชั้นในถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยเซลล์ในหูชั้นในเอง และบรรจุไหลเวียนอยู่ในหูชั้นใน เพื่อช่วยในเรื่องการทรงตัวและการได้ยิน และหลังจากที่กักเก็บน้ำไว้ซักระยะ ร่างกายก็จะดูดซึมน้ำนั้นกลับไปยังระบบไหลเวียนเลือด และก็เริ่มกระบวนการกักเก็บน้ำใหม่วนไปเรื่อยๆ
อย่างที่บอกว่าเมื่อหูของเรามีการสร้างและดูดซึมน้ำในหูชั้นในอยู่เป็นประจำ บางครั้งร่างกายก็เกิดแปรปรวนได้บ้าง ส่งผลให้น้ำในหูทั้งสองข้างผลิตหรือดูดซึมออกในปริมาณที่ไม่เท่ากัน และเมื่อหูของเราขาดความสมดุลของน้ำในหูชั้นในทั้งสองข้าง ทำให้ระบบการทรงตัวในหูสองข้างทำงานไม่เท่าเทียมกัน นั่นก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเกิดอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนได้
หินปูนในหูชั้นในหลุด...ก็ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้
โดยปกติแล้วเรามักจะเข้าใจว่าระบบการทรงตัวของเรา จะอยู่ภายใต้การควบคุมของน้ำในหูเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหูของเรามีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยควบคุมการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ส่วนนั้นก็คือหินปูนในหูชั้นใน มาถึงจุดนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าหินปูนในหูเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเมื่ออยู่ในหูนั้นจะไม่มีอันตรายอะไรเลยหรอ ในจุดนี้ก็ขอบอกเลยว่าในส่วนของหูชั้นใน นอกจากจะมีท่อที่เอาไว้เก็บน้ำในหู ยังมีกระเปาะเล็กๆ ที่เป็นที่อยู่ของหินปูน ซึ่งโดยปกตินั้นในกระเปาะจะประกอบไปด้วยหินปูนขนาดเล็กประมาณ 200-300 ก้อน หินปูนนี้เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนที่ในแนวระนาบ เช่น การนั่งรถเดินหน้า-ถอยหลัง หรือการขึ้น-ลงลิฟต์ แต่หินปูนนี้ควรอยู่ในกระเปาะของมันเอง ไม่หลุดร่วงออกมา แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีการเคลื่อนไหวศีรษะด้วยความเร็วและแรง เช่น การส่ายศีรษะตามจังหวะเพลงด้วยความสนุกสนาน หรือนักกีฬาที่ถูกกระแทกอย่างแรง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลให้หินปูนบางส่วนหลุดออกมาได้ และนั่นสามารถทำให้เราเกิดอาการบ้านหมุนได้เช่นกัน
ความแตกต่างของอาการบ้านหมุนจาก “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” และ “โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด” คืออะไร
อย่างที่เข้าใจว่าหน้าที่ที่เหมือนกันของน้ำในหูกับหินปูน คือการควบคุมเรื่องการทรงตัว แต่สิ่งหนึ่งของคุณสมบัติที่น้ำในหูมี แต่หินปูนในหูไม่มี คือการรับรู้เรื่องของการได้ยิน ดังนั้นอาการเบื้องต้นที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยคร่าวๆ คือการสอบถามอาการอื่นๆ ด้านการได้ยิน ถ้าคนไข้มีการเวียนหัวหรือบ้านหมุน มีอาการนานร่วมชั่วโมง ร่วมกับการได้ยินเสียงดังในหู หรือหูอื้อเป็นช่วงๆ ก็อาจจะวินิจฉัยคร่าวๆ ว่าเกิดจาก โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ในทางกลับกัน ถ้าอาการบ้านหมุนของคนไข้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ไม่กี่วินาที และสัมพันธ์กับการขยับศีรษะ เช่น ก้มหรือเงยคอ ล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน หรือเมื่อพลิกตะแคงตัวขณะนอน ก็พอสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหลุด ซึ่งก็ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
ลักษณะอาการที่ไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีการรักษาที่แตกต่าง
สำหรับการรักษาอาการบ้านหมุน อันมีสาเหตุจากน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยปกติแล้วคุณหมอจะให้คนไข้จำกัดอาหารที่มีความเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียม (Sodium) สูง และอีกข้อมูลหนึ่งที่หลายคนไม่เคยทราบคือ ในน้ำอัดลม นอกจากจะมีแก๊ส และน้ำตาลในปริมาณที่สูงแล้ว ยังมีปริมาณโซเดียมที่สูงเช่นกัน ดังนั้นอาหารกลุ่มนี้จะต้องถูกงดเพื่อให้ปริมาณของน้ำในหู กลับมาสมดุลกันอีกครั้ง ยังไม่หมดแค่นั้น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามถ้าการจำกัดปริมาณโซเดียมแล้ว อาการบ้านหมุนของคนไข้ยังไม่ดีขึ้น คุณหมอจะจ่ายยาในกลุ่มขับปัสสาวะ เพื่อช่วยลดปริมาณโซเดียมให้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มอาการบ้านหมุนนั้นถ้าใครเคยเป็นแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาอย่างถูกวิธี ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้ชัดเจน
แค่ขยับศีรษะไปมา...อาการบ้านหมุนก็หายได้
ในผู้ที่มีอาการบ้านหมุน สงสัยว่าจะเป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนหลุด วิธีรักษาคือการนำหินปูนเหล่านั้นกลับเข้าที่ แต่วิธีการตรวจว่าหินปูนหลุดไปอยู่ในท่อส่วนไหนในหูชั้นใน ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคุณหมอหูคอจมูก ในการตรวจร่างกายโดยละเอียด เพราะในหูชั้นในนั้นมีอวัยวะรับรู้การทรงตัวเป็นลักษณะท่อถึง 3 ท่อ และแต่ละท่อก็ควบคุมการทรงตัวคนละแบบ เมื่อคุณหมอตรวจพบตำแหน่งของหินปูนที่หลุดออกมาอย่างแน่ชัดแล้ว คุณหมอก็จะจับศีรษะคนไข้ขยับไปมาเบาๆ ซึ่งเป็นการจัดท่าในทางการแพทย์เพื่อให้หินปูนกลับเข้าตำแหน่ง
อย่าเหมารวมทุกครั้งที่มีอาการบ้านหมุน...ว่าเกิดจากหูชั้นใน
สิ่งที่คุณหมอส่วนใหญ่เป็นห่วงคนไข้คือ เมื่อมีอาการบ้านหมุน คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าอาการไม่น่าห่วง บางคนก็รอเวลาโดยหวังว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่สิ่งที่คุณหมออยากให้เกิดมากที่สุดคือ เมื่อพบความผิดปกติแล้ว คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะบางครั้ง อาการบ้านหมุนที่เราเป็น อาจจะเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรงและอันตรายมากกว่าโรคที่เกิดในหู เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือก้อนเนื้อในสมอง ดังนั้นควรมาพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง