น้ำแร่ช่วยรักษาโรคได้จริงมั้ย?

โดยปกติแล้วร่างกายของเราต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถคำนวนได้จากสูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มล.) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าร่างกายของเราควรได้รับปริมาณน้ำในแต่ละวันเท่าไหร่ แต่ประเด็นคือไม่ใช่ว่าเราจะดื่มน้ำอะไรก็ได้ น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่ควรเป็นน้ำที่มีประโยชน์ เลยทำให้เรานึกไปถึงน้ำแร่ที่มีการถกเถียงกันอยู่อย่างต่อเนื่องว่า ‘น้ำแร่’ มันดีกว่าน้ำปกติทั่วๆ ไปจริงมั้ย? และมันช่วยรักษาโรคได้จริงหรือเปล่า? งั้นมาหาคำตอบกัน



# ทำความรู้จักให้มากขึ้น…กับน้ำแร่ที่เขาบอกว่ามัน(ดีย์)
น้ำแร่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากชั้นใต้ดินผ่านชั้นหินที่น้ำไหลผ่าน ซึ่งจะมีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบหลัก สามารถพบได้บริเวณ แม่น้ำ คลอง บึง หรีอทะเลสาบ ซึ่งคำว่า ‘น้ำแร่ธรรมชาติ’ นั้นจะต้องผลิตมาจากธรรมชาติ 100% โดยที่ไม่มีการตกแต่งกลิ่นหรือใส่อะไรใดๆ ลงไปเพิ่มเติมและต้องผลิตจากแหล่งน้ำต้นกำเนิดของน้ำแร่ในพื้นที่ที่พบแหล่งน้ำเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องนำไปผ่านกรรมวิธีการผลิตก่อนบรรจุได้ แต่จะต้องทำตาม 2 วิธีการนี้เท่านั้น!
  • การปรับปริมาณก๊าซที่มีอยู่ในน้ำแร่ธรรมชาติ
  • การกำจัดสารประกอบที่ไม่ลงตัว เช่น สารประกอบเหล็ก แมงกานีส กำมะถัน สารหนู เป็นต้น โดยวิธีทําให้ตกตะกอน (Decantation) หรือโดยวิธีการกรอง (Filtration) เท่านั้น แต่อาจมีการเติมอากาศ (Aeration) เพื่อเร่งการตกตะกอนและการกรองตามความจำเป็นก่อนการกำจัดได้

# น้ำแร่กับคุณสมบัติสุดปังที่รู้แล้วต้องร้องว้าว
น้ำแร่มีปริมาณแร่ธาตุที่หลายหลายและอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย โดยมีอยู่ในทุกๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและอื่นๆ ซึ่งรู้มั้ยว่าอาหารบางชนิดที่เรารู้จักกัน หาเจอง่ายๆ ในครัวของเราก็มีคุณประโยชน์เทียบเท่ากับน้ำแร่เลยทีเดียว นอกจากนี้ที่เขาว่ากันว่า น้ำแร่รักษาโรคได้ คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำแร่ว่ามีแร่ธาตุใดผสมอยู่ โดยเราสามารถดูได้จากสลากข้างขวดได้ เพราะแร่ธาตุบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคได้ ทีนี้เราลองมาดูกันว่าแร่ธาตุในน้ำแร่แต่ละชนิดช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้างนะ

1. แคลเซียม (Calcium) แร่ธาตุที่โดดเด่นเรื่องเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและฟัน ช่วยรักษาโรคกระดูกพรุน เสริมสร้างฟันที่แข็งแรง และช่วยป้องกันภาวะโลหิตสูงได้ มักพบมากในอาหารหลายหลายชนิด เช่น กะปิ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียวที่มีลักษณะแข็ง (คะน้า, ใบยอ, ใบชะพลู) เป็นต้น
2. แมกนีเซียม (Magnesium) ช่วยให้การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการส่งสัญญาณประสาท ช่วยรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด เช่น ตะคริว หากมีแร่ธาตุชนิดนี้ในน้ำแร่มากจะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี เนื่องจากมีผลในการทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว พบมากในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผักโขม อโวคาโด กล้วยหอม โยเกิร์ต เมล็ดธัญพืช ถั่วชนิดต่างๆ อัลมอนด์ เป็นต้น
3. โซเดียม (Sodium) ช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติและช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียจากความร้อนหรือลมแดดได้ นอกจากนี้โซเดียมจะช่วยให้แคลเซียมและแร่ธาตุอื่นๆ สามารถละลายในเลือดได้ พบมากในสัตว์น้ำมีเปลือก กุ้งและปู เนื้อตากแห้ง เบคอน แคร์รอต เป็นต้น
4. โพแทสเซียม (Potassium) เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่างในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง สำหรับอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ทุเรียน กล้วย ลำไย ผลไม้แห้งต่างๆ เช่น ลูกเกด ลูกพรุน แครอท มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า หัวปลี ผักชี มันฝรั่ง
5. ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) พบในน้ำแร่ 3 ชนิดร่วมกัน ซึ่งจะมีปริมาณที่แตกต่างกันออกไป มีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคได้ต่างๆ มากมาย
  • น้ำแร่ไบคาร์บอนต กระตุ้นการเคลื่อนอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะและเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้แก่ร่างกาย
  • น้ำแร่ชัลเฟต-ไบคาร์บอเนต ใช้รักษาภาวะที่การทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติและนิ่วในถุงน้ำดี
  • น้ำแร่ซัลเฟอร์และไบคาร์บอเนต ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยช่วยลดระดับน้ำตาล อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยและช่วยลดความต้องการอินซูลินได้
6. ซัลเฟต (Sulfate) พบในน้ำแร่ 2 ชนิด ไก้แก่ น้ำแร่ซัลเฟตและน้ำแร่ชัลเฟต-ไบคาร์บอเนต ซึ่งน้ำแร่ซัลเฟตช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะในรายที่ท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากน้ำแร่ซัลเฟตมีผลแรงดันออสโมติคและช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนซีซีเค (CCK) เนื่องจากซัลเฟตมีผลต่อระบบไร้ท่อ
7. คลอไรด์ (Chloride) เป็นเกลือแร่คอลรีน หรือ น้ำเกลือ ซึ่งน้ำแร่ชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอิเล็กโตรไลท์ กระตุ้นการหลั่งน้ำดี และบรรเทาอาการท้องผูก
8. เหล็ก (Ferrous) ธาตุเหล็กที่ใครๆ ก็ต้องรู้จักเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นส่วนสำคัญของร่างกายและมีอยู่ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู ตับไก่ เครื่องในสัตว์ (ตับและม้าม) ซึ่งแน่นอนว่าแร่ธาตุเหล็กช่วยบรรเทาอาการในภาวะโลหิตจากการขาดธาตุเหล็กและอาจใช้ในภาวะไฮโปไทรอยด์

ส่วนแร่ธาตุอื่นๆ ที่พบในปริมาณน้อย ได้แก่ ฟลูออไรด์ ซีลีเนียม แมงกานีส เป็นต้น จะเห็นว่าแร่ธาตุแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่ให้คุณประโยชน์ที่แตกต่าง การดื่มน้ำแร่ที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุมากเกินจำเป็นกว่าที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันก็มีความเสี่ยง เช่น วัยทองควรระมัดระวังแร่ธาตุโซเดียมอาจะทำให้เกิดความดันได้ ผู้ป่วยโรคหัวใจระวังธาตุโพแทสเซียมที่อาจจะกวนการเต้นของหัวใจ หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเรื่องโลหะหนักที่อาจสะสมในทารกได้ เป็นต้น และเพื่อให้มั่นใจและปลอดภัยกับผู้บริโภค ขั้นตอนการผลิตน้ำแร่บรรจุขวด จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรฐาน มอก.2208-2547 เพื่อให้แน่ใจได้ว่า น้ำแร่ที่อยู่ในขวด คือน้ำแร่ธรรมชาติที่มีประโยชน์ตามที่บอกไว้จริงๆ นั่นเอง



# น้ำแร่ VS น้ำเปล่า ต่างกันมั้ยนะ?
จริงๆ สามารถตอบได้เลยว่า ไม่เหมือนกัน เพราะน้ำแร่เกิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติและในน้ำแร่ทุกขวดที่มาจากแหล่งน้ำในสถานที่ต่างๆ ก็จะมีแร่ธาตุที่สำคัญอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งต่างกับน้ำเปล่าบางยี่ห้ออาจมาจากแหล่งน้ำใต้ดินและนำมากรองอีกทีหนึ่ง โดยกระบวนการผลิตของน้ำแร่ก็จะต้องมีมาตรฐานและได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข  อีกข้อหนึ่งที่มีความต่างกันคือ ‘ราคา’ เพราะน้ำแร่มีกรรมวิธีที่ซับซ้อน คุณประโยชน์ยังมากอีกด้วย ซึ่งก็เปรียบเทียบเหมือนกับวิตามิน อาหารเสริมที่ช่วยเรื่องสุขภาพทั่วๆ ไปเลย ความแพงก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น บริษัทผู้ผลิต แหล่งที่มาของน้ำแร่ ซึ่งก็เปิดกว้างให้กับผู้บริโภคได้เลือกซื้อและอุปโภค บริโภค

และเพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับร่างกายของเราที่นี้มาดูกันว่า ทำไมน้ำถึงสำคัญกับร่างกายของเรา
  • เพราะตัวเลข 70% เป็นข้อบ่งบอกว่าน้ำนั้นสำคัญ ด้วยระบบการทำงานของร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนผสมหลัก นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมน้ำถึงสำคัญกับร่างกายของเรา เพราะน้ำจะเข้าไปทำหน้าที่หลายอย่าง ช่วยย่อยอาหาร ละลายสารอาหารและออกซิเจน เพื่อขนส่งให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิ ทำให้เลือดไหลเวียน ละลายสารพิษต่างๆ เพื่อขับออกจากร่างกาย น้ำยังทำให้ข้อเคลื่อนไหวสะดวกและกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะต่างๆ
  • เคยได้ยินไหมว่า ขาดน้ำ 3 วันอาจถึงตาย ซึ่งก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าน้ำนั้นไม่สำคัญ เมื่อร่างกายขาดน้ำ หยุดดื่มน้ำประมาณ 3 วันจะตายได้ และถ้าขาดน้ำเรื้อรัง (Chronic Dehydration) คือ ดื่มน้ำไม่เพียงพอเป็นประจำทุกวัน ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้
  • ยิ่งดื่มน้ำได้เยอะ ทำให้ผิวพรรณดี ดูอ่อนกว่าวัย คำที่ได้ยินไปนั้น ไม่เกินจริงอย่างแน่นอน เพราะความชราภาพของเรา (Aging) จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้านั้น เกี่ยวพันถึงเรื่องเซลล์ในร่างกายขาดน้ำเรื้อรังร่วมกับปัญหาอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ต้องเสื่อมสภาพลงไป
  • แค่ดื่มน้ำสุขภาพก็ดีได้ ฟังไม่ผิดหรอกทุกคน การดื่มน้ำ ลดการปวดตามข้อ ปวดหลัง ความดันโลหิตสูง และการปวดศรีษะข้างเดียว น้ำดื่มที่สะอาดจะช่วยลดการเกิดนิ่วชนิดอ๊อกซาเลตในไต ทุเลาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลดอาการท้องผูก น้ำที่สะอาดจะเร่งการขับสารพิษ และของเสียออกไป น้ำที่พอเพียงจะหล่อลื่นข้อกระดูกต่างๆ ทำให้อาการปวดข้อ ปวดหลัง และปวดเอวทุเลาลง

น้ำแร่มีคุณประโยชน์มากก็จริง แต่การกินน้ำเปล่าธรรมดาสลับกับน้ำแร่ก็เป็นเรื่องดี เพราะปริมาณแร่ธาตุในน้ำแร่แต่ละชนิดให้ประโยชน์ต่างกัน กินแต่พอดีก็จะเป็นผลดีแก่ร่างกายของเรา
-->