นายติดมือถือทำเจ้าตูบซึมเศร้า



ใครๆ ก็รู้ว่าโรคติดมือถือส่งผลกระทบหลายอย่างในชีวิต แต่อาจจะนึกไม่ถึงว่า...
"การติดมือถือของเจ้านายจะทำให้เจ้าตูบเป็นโรคซึมเศร้า" ได้

เมื่อจ่าฝูงติดมือถือ
ไม่นานมานี้ เอียน บูธท์ สัตวแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ออกมาเตือนเหล่าบรรดา “นาย” หรือ “จ่าฝูง” ว่า ถ้าใครเป็นโรคติดมือถือก็อย่าลืมแบ่งเวลาให้กับเจ้าตูบบ้าง โดยเฉพาะในเวลาที่มันแสดงอาการว่าต้องการคุณ ไม่ว่าจะเป็นการเห่าเรียกหรือเข้ามาคลอเคลีย เพราะหากคุณแสดงอาการไม่สนใจหรือเมินหน้าหนีมันบ่อยๆ น้องหมาของคุณก็อาจจะค่อยๆ เลิกนับถือคุณ เพราะเมื่อคุณไม่สนใจมัน มันก็จะลดระดับความสัมพันธ์กับคุณ และในที่สุดก็จะไม่ยอมให้คุณเป็นจ่าฝูงอีกต่อไป มันจะเริ่มไม่เชื่อฟัง มีความก้าวร้าว และถ้าหนักสุดก็อาจจะกลายเป็นหมาซึมเศร้าได้เลยทีเดียว...

รู้สึกไวในการเปลี่ยนแปลง
นอกจากอาการติดมือถือของนายแล้ว สภาพแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ ในปกติชีวิตที่แปลกไปใช่ว่าสุนัขจะไม่รู้สึก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางลบอย่าง เจ้านายเกิดการหย่าร้าง เลิกกับแฟน อกหัก มีการตายของคนในบ้านหรือสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่การย้ายบ้าน การที่เจ้านายกลับบ้านดึกบ่อยๆ ทำให้เวลาอาหาร เวลาพาไปเดินเล่น หรือเวลาที่อยู่ใกล้ชิดกันน้อยลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้สุนัขเกิดความกังวล และถ้าการเปลี่ยนแปลงนี้ผนวกกับการที่เจ้านายให้ความสนใจในตัวมันน้อยลงด้วยแล้วล่ะก็ อาการซึมเศร้าก็จะถามหาน้องหมาในไม่ช้า
 
แค่เบื่อหรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่
แม้เราอาจจะบอกไม่ได้แน่ชัดว่า... พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของน้องหมาจะใช่โรคซึมเศร้าหรือเปล่า แต่ถ้าเราเห็นว่ามันสนใจอาหารน้อยลง วันๆ เอาแต่นอน เลียอุ้งเท้า พอเราเรียกก็แค่เหลือบตามองแล้วนอนต่อ ไม่กระตือรือร้นหรือตื่นเต้นกับอะไรๆ อย่างที่เคย เริ่มมีอาการหงุดหงิด เห่าหรือก้าวร้าวผิดปกติ เราก็ควรพาไปพบสัตว์แพทย์ให้ตรวจหาสาเหตุ  เพราะไม่แน่ว่าอาจจะมีโรคทางกายบางอย่างที่ซ่อนอยู่

ไม่ป่วยกายก็ป่วยใจ
หากหมอตรวจไม่พบโรคทางกาย และน้องหมาก็ไม่ได้เข้าสู่วัยชรา อาจจะสงสัยได้ว่าสุนัขมีความเครียด ถ้าไม่หนักหรือร้ายแรงมาก การให้เวลา เอาใจใส่ พาไปเดินเล่น ชวนเล่น อยู่ใกล้ชิด กอด พูดคุย (แม้มันจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ก็ตาม) การกระทำที่เจ้านายแสดงออกว่าสนใจมันมากขึ้นและทำอย่างสม่ำเสมอ เพียงไม่นานอาการซึมเศร้าต่างๆ ก็จะหายไปได้ เพราะปกติแล้วสุนัขเป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว แต่หากมันยังมีภาวะซึมเศร้าหนักๆ และดูไม่ดีขึ้นทั้งๆ ที่เราก็หันมาดูแลอย่างดีแล้ว อาจจะต้องพากลับไปพบหมออีกครั้งเพื่อรับยา แม้การให้ยาแก้ซึมเศร้าในสุนัขยังเป็นวิธีการรักษาที่ใหม่และยังต้องรอการพิสูจน์ว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรซะเลย

ท้ายที่สุด...
ไม่ว่าคุณจะติดมือถือ ติดเกม หรือต้องเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกเศร้า ไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำอะไร การเข้าหาสุนัขจะส่งผลดีทั้งกับตัวคุณและกับมัน เพราะนอกจะช่วยบำบัดใจให้คุณแล้วยังช่วยให้เจ้าตูบของคุณไม่รู้สึกเป็นส่วนเกิน การได้แชร์ความรู้สึกจากการสัมผัสกันและกันจะทำให้เกิดพลังบวกกับทั้งคุณและน้องหมาของคุณอย่างไม่รู้ตัว

 
-->