นั่งนานๆ ก็อาจจะบั่นทอน ‘หัวแม่เท้า’ ได้เหมือนกัน

การนั่งนานๆ ไม่ว่าจะนั่งทำงาน นั่งขับรถในการจราจรที่ติดขัด หรือนั่งรอใครสักคนให้เขามารัก ข้อดีคือไม่เมื่อยขา สามารถนั่งได้นานเท่าไหร่ก็ได้ ดีกว่าให้ฉันต้องทนยืน ใครๆ ก็คิดแบบนี้ แต่ลองสังเกตตัวเองดูซิว่า เคยนั่งนานๆ แล้วปวดเมื่อยก้น หรือค่อยๆ รู้สึกชาที่สะโพกด้านหลังแล้วลามลงขาหรือไม่ และในบางคนความชานั้นอาจจะแผ่ไปถึงปลายนิ้วหัวแม่เท้าเลยก็ได้ 


 
หากคุณมีอาการดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากการความตึงของกล้ามเนื้อสะโพก หรือที่ในวงการแพทย์เรียกว่ากล้ามเนื้อพิริฟอมิส (Piriformis) ทำให้เกิดอาการปวดชาร้าวลงขาตามแนวเส้นประสาทไซแอ็ททิค (Sciatic) ที่หล่อเลี้ยงขาทั้งขา หรือที่เรียกว่าอาการไซแอ็ททิคก้า Sciatica นั่นเอง เดี๋ยววันนี้ Health Addict จะมาแถลงให้ละเอียด ว่าอาการเหล่านี้มีที่มาที่ไปยังไง
 
ปวดชาร้าวลงขาเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ Piriformis ที่นอนทอดตัวจากกระดูกสลักเพชรมายังส่วนต้นของกระดูกสะโพก ที่ทำหน้าที่หลักในการหมุนสะโพกออกด้านนอก เป็นเพียงแค่สาเหตุหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เกิดการปวดชาร้าวลงขา เพราะยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กันได้ เช่น ความผิดปกติของกระดูกสันหลังบริเวณเอว ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกเสื่อมจนเกิดการทรุดตัวทับเส้นประสาท ก็เกิดอาการปวดร้าวตามที่ว่าได้ หรือการที่กระดูกเชิงกรานไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ที่เราเรียกติดปากจนคุ้นหูว่า ‘คนเอวแข็ง’ ก็สามารถกระทบกับเส้นประสาท Sciatic ที่ลอดผ่านใต้กล้ามเนื้อ Piriformis เพื่อลงมาเลี้ยงขาได้เช่นกัน แต่อาการเหล่านี้ จะต้องได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด บางรายอาจต้องมีผลตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันท่วงที  
 
เมื่อกล้ามเนื้อ Piriformis มีอาการตึงตัว
แต่ในที่นี้เราจะขอกล่าวถึงอาการชาร้าวลงขาที่มีสาเหตุมาจาก กล้ามเนื้อ Piriformis ที่ตึงตัว เนื่องจากวิธีแก้ไม่ซับซ้อนและไม่เป็นอันตราย หากผู้ที่เริ่มมีอาการอยากจะออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการปวดตึงด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วที่มาที่ไปมีมากมายหลากหลายสาเหตุมาก เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์หลายสัปดาห์ คนที่กล้ามเนื้อรอบๆ สะโพกไม่แข็งแรง หรือขาสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน ซึ่งสรุปแบบรวบรัดตัดตอนได้ว่า เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อสะโพกที่มากเกินไป เกินไปในที่นี้คือเกินความแข็งแรงของตัวเองที่มี หรือความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะทำงานได้ ในบางคนก็ใช้งานหนักแล้วยืดไม่เพียงพอ เช่น เดินหรือวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เกิดจากการถูกกดทับ เช่น นั่งเป็นระยะเวลานาน คุณผู้ชายที่มักใส่กระเป๋าสตางค์ไว้ในกระเป๋ากางเกงด้านหลังแล้วนั่งทับ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อนั้นอักเสบหรือบวม จนไปมีผลกับเส้นประสาท Sciatic ได้ นอกจากนั้นอุบัติเหตุจากการโดนกระแทกแรงๆ เข้าที่ก้น ก็ทำให้กล้ามเนื้อ Piriformis เกิดการอักเสบได้เช่นกัน 
 
การยืดกล้ามเนื้อ...อาจเปลี่ยนชีวิตได้
หลักการพื้นฐานง่ายๆ คือ เมื่อกล้ามเนื้อมีความตึงตัว ไม่ว่าส่วนใดก็ตาม วิธีแก้คือต้องยืดออก Piriformis ก็เช่นกัน การยืดจะตอบโจทย์ในเรื่องของลดอาการปวดร้าวได้ดี ในกรณีที่ชาร้าวมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งการยืดสามารถทำในท่านอนก็ได้ ท่านั่งก็ดี เรียกว่าสะดวกตรงไหนก็ยืดตรงนั้นได้เลย สำหรับท่ายืดนั้น ให้นึกถึงการทำขาเป็นเลข 4 หรือบางคนอาจเรียกท่านั่งไขว้ห้างแมนๆ แบบผู้ชาย คือการนำข้อเท้าของข้างที่จะยืด ไปวางบนตักของขาอีกข้าง จากนั้นค่อยๆ นำมือสองข้าง ไต่ลงไปตามหน้าแข้งทิศไล่ไปทางปลายเท้าของขาที่วางอยู่บนพื้น เลื่อนมือไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เราทำได้ ถึงจุดที่ตึงแล้วนับ 1-10 ช้าๆ ในใจ เพียงเท่านั้นจะนั่งอยู่ตรงไหน ถ้าการยกขาขึ้นไม่ได้เกะกะหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน นึกขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ทำได้เมื่อนั้นเลย สำหรับท่านอน เหมาะที่จะทำบนเตียงนอน หรือสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการนอนโดยที่หลังเราผ่อนคลาย เช่น สวนสาธารณะ หรือเสื่อโยคะ วิธีการยืดก็ยังคงใช้หลักการทำขาเป็นเลข 4 เช่นกัน เพียงแต่ต่างกับท่านั่งตรงที่ เปลี่ยนจากการก้มลงไปแต่เป็นการดึงต้นขาข้างที่วางอยู่บนพื้นเตียงเข้าหาอก นับเลขชั่วอึดใจ ทำทั้งเช้าและเย็นอย่างสม่ำเสมอ รับรองว่าอาการปวดชาร้าวลงขา ลดลงอย่างแน่นอน
 
แต่หากลองทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากกลุ่มอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อ Piriformis นั้น ยังไม่มี Gold standard ในการตรวจหาการกำเนิดของโรค จึงต้องใช้การให้ประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งการรักษามีหลากหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรง ระยะของการดำเนินโรคและความต้องการของผู้ป่วย เช่น หากผู้ป่วยไม่อยากทานยาหรือฉีดยา การทำกายภาพบำบัดก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ จะมีการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อลดปวดและออกกำลังกายเพิ่มเติ่มในส่วนที่ร่างกายยังขาด ซึ่งครอบคุลมในเรื่องของความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความทนทาน หรือหากอาการเข้าขั้นรุนแรง มีสาเหตุที่ซับซ้อน การผ่าตัดก็อาจจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่ในเวลานั้นก็เป็นได้
-->