นักวิทย์ฯ ชี้ ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เชื้อโรคร้ายจะฟื้นคืนชีพ!


เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นจาก Climate Change เรื่องหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน คือชั้นดินที่เป็นน้ำแข็ง (Permafrost) นั้นค่อยๆ ละลายอยู่เรื่อยๆ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าใต้น้ำแข็งเหล่านี้ มีเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรียมากมายถูกแช่แข็งอยู่ ซึ่งถ้ามันหลุดออกมาระบาดได้ล่ะก็ แน่นอนว่าจะร้ายแรงกว่าไวรัสโคโรนาที่ระบาดอยู่ตอนนี้หลายเท่า



ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในช่วงหน้าร้อนเนี่ย Permafrost มันละลายที่ความลึกประมาณ 50 ซม.เป็นปกติของมันอยู่แล้ว และจะกลับมาหนาเท่าเดิมในช่วงหน้าหนาว วน loop แบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแบบกู่ไม่กลับ จน Permafrost ละลายลึกมากกว่าปกติ ซึ่งต้องบอกว่าชั้น Permafrost ที่อยู่ลึกๆ มันถูกทับถมมาเป็นล้านๆ ปี แล้ว ดังนั้นการละลายของน้ำแข็งเลยเป็นเหมือนการปล่อยเชื้อโรคเมื่อล้านปีที่แล้วให้ออกสู่โลกภายนอกอีกครั้ง

‘Permafrost’ สถานที่จำศีลชั้นดีของเชื้อโรค 
นักชีววิทยาวิวัฒนาการอย่าง Jean-Michel Claverie จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille University ประเทศฝรั่งเศส ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ชั้น Permafrost นั้นมีความเย็นจัด ไม่มีออกซิเจน และมืดสนิท ทำให้เชื้อเหล่านี้เข้าสู่สภาวะจำศีล ที่น่ากลัวคือ  มันอาจเคยเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคระบาดในอดีต หรืออาจจะเป็นเชื้อที่เราไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนก็ได้  

ถ้าเชื้อพวกนี้หลุดออกมา แน่นอนว่าร่างกายของเราจะไม่มีภูมิคุ้มกันในการจัดการกับมันได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เพนนิซิลลิน (Penicillin) ยาปฏิชีวนะตัวแรกที่เราคิดค้นได้ เพิ่งจะถูกคิดค้นเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วนี้เอง แต่เชื้อโรคบางชนิดใต้ชั้นน้ำแข็ง อาจอยู่มานานถึงหมื่นปี เท่ากับว่ายาปฏิชีวนะที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำอะไรมันได้เลยด้วยซ้ำ



การฟื้นคืนชีพไม่ใช่เรื่องที่ยาก
เมื่อปี 2005 นักวิทยาศาสต์จาก NASA ทำการทดลองปลุกจุลินทรีย์อายุกว่า 32,000 ปี ที่ถูกแช่แข็งอยู่ในแถบ Alaska  ขึ้นมาได้สำเร็จ ต่อมาจึงมีการทำการทดลองเพิ่ม และประสบความสำเร็จในการฟื้นคืนชีพแบคทีเรียอายุกว่า 8 ล้านปี ที่ถูกแช่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งใน Antarctica ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยที่พวกมันจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

แต่ก็ใช่ว่าแบคทีเรียหรือไวรัสทุกตัวจะสามารถอยู่รอดในน้ำแข็งเป็นเวลานานขนาดนั้นได้นะ จะมีเพียงเชื้อบางชนิดที่มีความแข็งแรงอย่างแอนแทร็กซ์ (Anthrax), บาดทะยัก (Tetanus) หรือ Clostridium botulinum ที่สามารถอยู่รอดใต้ชั้น Permafrost ได้นานเป็นร้อยๆ ปี

ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะมันเคยหลุดออกมา(บ้าง)แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านหนึ่งในแถบไซบีเรีย เด็กชายวัย 12 ปี เสียชีวิต และอีกกว่า 20 ราย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมารู้ในทีหลังว่าต้นเหตุคือเชื้อแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากแบคทีเรีย

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเมื่อ 75 ปีก่อน มีกวางเรนเดียร์ติดเชื้อแอนแทรกซ์และตายกลายเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้ชั้น Permafrost จนกระทั่งภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลาย เชื้อโรคจึงฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าเคสนี้ไม่ใช่เคสเดียวที่เคยเกิดขึ้น



ลดโลกร้อน เท่ากับ ลดโรคร้าย
อีกหนึ่งข้อกังวลของนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดคือ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น เชื้อโรคที่อยู่ในเขตร้อนอย่างอหิวาตกโรค มาลาเรีย หรือไข้เลือดออก จะเจริญเติบโตได้ดีและอาจจะขยายการระบาดออกเป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจ และช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


 
-->