ท้องผูกบ่อยๆ เสี่ยง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’
ว่าด้วยเรื่องของท้องไส้ของเราที่ปั่นป่วนจนสร้างความลำบากใจให้กับเรา แถมยังรบกวนการใช้ชีวิตประจำของเราอีกต่างหาก หลายคนรู้สึกเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และรู้สึกเบื่อหน่ายเมื่อต้องอยู่ในห้องน้ำนานๆ เพราะถ่ายไม่ออก ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะปัญหาอาการท้องผูกบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายอยู่ก็ได้นะ#แบบไหนเรียกว่า ‘ท้องผูก’
อาการท้องผูก มักเกิดขึ้นจากคนที่มีปัญหาในเรื่องของระบบขับถ่าย ซึ่งอาจจะขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ่ายแข็ง ใช้เวลาในการขับถ่ายนาน หรือรู้สึกว่าถ่ายได้ไม่สุด ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นเลยว่า เราอาจจะเข้าข่ายเป็นคนท้องผูก ทั้งนี้เราอาจจะต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีอาการท้องผูกได้เหมือนกัน เช่น
- อายุที่มากขึ้น อาจส่งผลทำให้ท้องผูกยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย เพราะลำไส้ไม่มีการเคลื่อนไหวอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน
- พฤติกรรมการกิน อันนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะกว่า 50% ของอาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากสิ่งนี้ หลายคนคงทราบดีว่า กากใยของผักและผลไม้ มีส่วนสำคัญในเรื่องระบบขับถ่าย และแน่นอนว่าคนที่ไม่กินผักและผลไม้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการท้องผูกได้สูงมาก นอกจากนี้กลุ่มคนที่ดื่มน้ำน้อยก็สุ่มเสี่ยงไม่น้อยเลย
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมัน คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
- ตัวยาบางชนิดทำให้ท้องผูก เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน ยารักษาอาการซึมเศร้า รวมทั้งกลุ่มยาที่รักษาโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์
- ภาวะทางจิตใจก็มีผลด้วยเช่นกัน เช่น ภาวะความเครียด ภาวะซึมเศร้า เพราะถ้าเรามีอาการเหล่านี้ อาจทำให้ลำไส้ของเราทำงานได้ไม่ดี เสี่ยงเกิดปัญหาท้องผูกตามมาได้
ทั้งนี้หากเราประสบปัญหาในการขับถ่ายยาก รู้สึกว่าระบบขับถ่ายมีความผิดปกติไปจากชีวิตประจำวัน หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นมีเลือดปนออกมา หรือมีอาการอื่นๆ ที่แสดงถึงความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน และไม่ควรเลือกกินยาแก้ท้องผูกมากินเอง เพราะหากใช้มากเกินไป อาจส่งผลเสียกับลำไส้ใหญ่ในระยะยาวและอาจเป็นอันตรายกับร่างกายได้เช่นกัน
#แค่ท้องผูก อาจรุนแรงถึง ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ได้เลย
แม้ว่าอาการท้องผูกจะไม่ได้มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็เป็นผลกระทบในระยะยาวให้กับระบบขับถ่ายของเราได้เช่นกัน หากปล่อยให้เป็นนานๆ เข้า ก็อาจจะพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เลย มีงานวิจัยใน American College of Gastroenterology (ACG) บอกว่า ภาวะท้องผูกเรื้อรัง มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยพบว่า ผู้ที่มีท้องผูกเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.78 เท่า ดังนั้นหากเราป้องกันตั้งแต่ต้น อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินใหม่ เพราะถือเป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการท้องผูก ในมื้ออาหารของเราควรมีธัญพืช ผัก และผลไม้ ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยอาจเลือกกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ส้ม ลูกพรุน ราสเบอร์รี่ ถั่วดำ และอัลมอนด์ ที่มีส่วนช่วยทำให้ระบบขับถ่ายของเรานั้นดีขึ้น นอกจากนี้ควรกินน้ำเปล่าให้ได้สัดส่วนตามปริมาณที่ร่างกายควรได้รับเฉลี่ย 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน ควรกินให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และไม่ควรกินน้ำแบบรวดเดียวจบ
- ขับถ่ายให้เป็นเวลา กว่า 30% ของอาการท้องผูก การขับถ่ายผิดวิธีเป็นส่วนหนึ่งของอาการท้องผูก สำหรับใครที่ตื่นเช้าแล้วต้องเลี้ยวเข้าห้องน้ำก่อนเป็นลำดับแรก แถมเป็นทุกวัน ทุกเวลา หรือเวลาที่กินชา กาแฟ จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้เข้าห้องน้ำ ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ระบบขับถ่ายของเราทำงานได้เป็นปกติ หรือลองเปลี่ยนวิธีการขับถ่าย ไม่เบ่ง ปล่อยให้ออกโดยธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ดีขึ้น ระบบขับถ่ายของเราจะดีขึ้นตามไปด้วย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกได้แล้ว สุขภาพร่างกายของเราก็จะแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา หากเรายังมีอาการท้องผูกเรื้อรังที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา เพราะต้นเหตุของการเกิดอาการท้องผูกยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ซึ่งมีโอกาสที่อาจจะเป็นกลุ่มโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกัน การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด