ที่เห็นลูกไม่อยู่นิ่ง แค่เป็นเด็ก ‘พลังล้น’ หรือจริงๆ แล้ว ‘สมาธิสั้น’

หลายๆ บ้านคงเพิ่งจะได้หายใจหายคอ หลังจากหมดพลังกับการจับปูใส่กระด้งในช่วงที่เด็กๆ หยุดยาวช่วงปีใหม่ เพราะตอนนี้เด็กๆ เริ่มจะกลับไปเรียนกันแล้ว ทำให้ชีวิต(บางส่วน)กำลังจะกลับสู่ความสงบ

ซึ่งเวลาที่ต้องรับมือกับเด็กซนเราก็มักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ในใจว่า ‘เด็กซนเป็นเด็กฉลาด’ แต่บางทีก็มีฟิวส์ขาดกันบ้างกับความแอคทีฟเกินเบอร์ในบ้างครั้ง ว่าแต่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าเด็กที่แอคทีฟเกินเบอร์ ไม่ค่อยอยู่นิ่งแบบนี้ เขาแค่เป็นเด็กเอเนอร์จี้เยอะ หรือเข้าข่ายสมาธิสั้นกันแน่

 
คำจำกัดความของ ‘สมาธิสั้น’
พญ. ณกุล วิจักขณา กุมารแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้อธิบายถึงโรคสมาธิสั้นไว้ว่า โรคสมาธิสั้นเป็นภาวะบกพร่องในการทำงานของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้าน คือ ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง ซนมากกว่าปกติหรือไม่อยู่นิ่ง และขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะพบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงในอัตราส่วน 3:1 และหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้เด็กๆ เรียนได้ไม่ดี ไม่มีสมาธิในการเรียนรู้ หรือแม้แต่การทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร

ในขณะเดียวกันทางคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้พูดถึงโรคนี้ไว้ว่า โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention deficit/ Hyperactivity disorder) เป็นโรคที่พบในเด็กวัยเรียนมากถึง 7% ถ้าดูเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าไม่เยอะ แต่ถ้าลองดูดีๆ จะเห็นว่า นั่นแปลว่าใน 100 คนจะเจอเด็กที่เป็นโรคสมาธิมากถึง 7 คน และถ้า 1 ห้อง มีเด็กประมาณ 40-50 คน ก็อาจมีเด็กสมาธิสั้นอยู่ในห้องนั้นไม่ต่ำกว่า 2 คนเลยทีเดียว … ฟังแล้วรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมาเลยล่ะ

จุดกำเนิด ของการเกิด ‘สมาธิสั้น’
แต่ก็อย่าเพิ่งโทษว่าสมาธิสั้นนั้นเกิดจากการดูจอเพียงอย่างเดียว เพราะมีการศึกษาถึงความผิดปกติของสมองเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นพบว่ามีสาเหตุมาจากพันธุกรรมได้เช่นกัน หากเด็กมีคนในครอบครัวเป็นโรคสมาธิสั้น พวกเขาก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป 4-5 เท่า ส่วนปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนด ได้รับควันบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ ดื่มสุรา รวมถึงการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม อย่างการปล่อยให้เด็กโตกับมือถือหรือโทรทัศน์โดยลำพังเป็นเวลานานๆ เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมาธิสั้นได้เหมือนกัน

เช็คลิสต์! 3 อาการหลัก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าสังเกต
คราวนี้เราจะพามาดูกันว่า แล้วจะมีวิธีสังเกตได้อย่างไร ว่าลูกน้อยขนั้นเข้าข่ายสมาธิสั้นแล้ว โดยจุดสังเกตง่ายๆ จะมีอาการหลักๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ

* Inattention I ขาดสมาธิต่อเนื่อง
จะสังเกตได้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีสมาธิ วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย เหม่อลอย มักจะมีอาการหลงลืมสิ่งที่ต้องทำอยู่ทุกวัน ทำของหายบ่อย และอาการจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ถ้าได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบ ได้รับการเอาใจใส่แบบใกล้ชิด หรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบจะมีอาการน้อยลง

* Hyperactivity I ซนมากกว่าปกติหรือไม่อยู่นิ่ง
จะเป็นความบกพร่องในการควบคุมการแสดงออกทางพฤติกรรม ทำให้พวกเขาซนกว่าปกติ เล่นได้โดยไม่หยุด ไม่เหน็ดเหนื่อย ชอบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เวลาจับให้นั่งเฉยๆ มักจะอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ จะยุกยิกจับนู้นจับนี่มาเล่นตลอดเวลา และบางคนอาจพูดมากกว่าปกติ ชอบส่งเสียงดัง และชวนเพื่อนคุยขณะเรียนหนังสือ

* Impulsivity I ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น
อาการนี้เกิดจากมีความบกพร่องในการหยุดยั้งตัวเอง ทำให้ใจร้อน ไม่สามารถรออะไรได้นานๆ มักจะทำอะไรโดยขาดความยั้งคิด เช่น ขอบเล่นรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจ ชอบพูดแทรก หรือพูดโพล่งในขณะที่ครูยังอธิบายไม่จบ   

วิธีรับมือ เมื่อลูกเป็นสมาธิสั้นโดยไม่ต้องใช้ยา
การรักษาโรคสมาธิสั้นนั้นอาจจะมีทั้งแบบที่ใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งแล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งวันนี้เราจะพูดถึงเฉพาะในส่วนของวิธีแก้โรคสมาธิสั้นแบบง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำเองได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งการทานยา ทางศูนย์กุมารเวช รพ.เปาโล พหลโยธิน ได้แนะนำวิธีรับมือเมื่อลูกเป็นโรคสมาธิสั้นไว้ว่า

#1 ไม่ลงโทษหรือโทษว่าเป็นความผิดของลูก
คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่าเด็กสมาธิสั้นไม่ได้เกิดจากนิสัยของลูก  แต่เกิดจากสมอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาทำอะไร อย่าเพิ่งลงโทษ ให้ค่อยๆ อธิบายหรือสอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

#2 พาลูกไปเล่นกีฬา ดนตรีหรือศิลปะ
อาจจะเริ่มจากกีฬาง่ายๆ ก่อน เช่น กระโดดเชือก ตีแบตมินตัน ลองเล่นดนตรีที่บ้าน หรือวาดรูประบายสี คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูว่าลูกชอบทำสิ่งไหน แล้วจึงค่อยเพิ่มเวลาในการทำสิ่งนั้นให้มากขึ้น เพราะเมื่อเด็กๆ รู้สึกสนใจในสิ่งที่เค้าทำ จะทำให้เค้าสามารถใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นได้นานๆ

#3 ฝึกอยู่นิ่งๆ 3-7 นาที
อาจจะลองปรับให้เป็นเกมส์ สลับกันเสกเป็นหิน โดยมีกติกาว่าใครกระดุกกระดิกก่อนแพ้ ครั้งแรกอาจจะเริ่มจากสั้นๆ ดูก่อน ซัก 3 นาทีว่าลูกทำได้มั้ย ถ้าทำได้ดี ค่อยๆ เพิ่มเวลาจาก 3 เป็น 5 และจาก 5 เป็น 7 นาทีตามลำดับ

#4 ลดสิ่งเร้ารอบตัว
ปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้น คือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ที่อาจทำให้ลูกวอกแวกไปจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองเปลี่ยนบรรยากาศรอบๆ เช่น ในห้องนอนควรมีบรรยากาศที่เงียบสงบขึ้น ข้าวของถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ หรือห้องทำการบ้านควรแยกเป็นสัดส่วน เพื่อไม่ให้เด็กวอกแวกไปทำอย่างอื่น หรือสมาธิหลุดได้ง่าย

การจะรับมือกับเด็กสมาธิสั้นอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องอาศัยความร่วมมือของคนรอบข้างอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พ่อแม่ หรือแม้แต่คุณครู เพื่อให้การรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าลืมนะว่าสมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องของนิสัย คุณพ่อคุณแม่ต้องโอบกอดเขาด้วยความเข้าใจเยอะๆ 

HA Fact!
1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้น เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆ หายได้เอง
1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้น จะมีอาการดีขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมและรักษาด้วยยา
-->