ทำไมคนเรา ‘ทนต่อความหนาว’ ได้ไม่เท่ากัน
คุณพี่มาจากประเทศอะไรค๊า? เป็นสิ่งที่เราอยากจะถามออกไปขณะนั่งทำงานตัวสั่นในห้องที่เปิดแอร์เย็นเจี๊ยบเหมือนอยู่ขั้วโลกเหนือยังไงยังงั้น แล้วหันไปมองรอบข้างกลับพบว่าคนอื่นยังคงนั่งทำงานโดยใส่เสื้อเชิ๊ตบางๆ เพียงตัวเดียว แถมยังดูไม่รู้สึกอะไรกับความหนาวเลยสักนิด และเมื่อไปหาข้อมูลดูก็ได้พบงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสทริชต์ ประเทศเนเธอแลนด์ที่บอกว่าโดยปกติแล้วผู้หญิงมักจะขี้หนาวกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงจะรู้สึกสบาย เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิประมาณ 24 องศาเซลเซียส ซึ่งสวนทางกับผู้ชายที่สามารถทนต่อความหนาวได้มากกว่า และจะรู้สึกสบายในอุณภูมิประมาณ 22 องศาเซลเซียส แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็นแก็งค์เพื่อนๆ ที่นั่งทำงานในที่เดียวกัน ที่ยังทนต่อความหนาวได้ไม่เท่ากัน ทั้งที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งที่เป็นอย่างนี้ นั่นอาจเป็นเพราะ...กายวิภาคของ หญิง vs ชาย
เมื่อศึกษาให้ลึกลงไปจากผลงานวิจัยที่บอกว่าผู้ชายสามารถทนหนาวได้มากกว่าผู้หญิงแล้ว พบว่าสาเหตุที่ผู้หญิงมีแนวโน้มทนความหนาวได้น้อยกว่าผู้ชาย ไม่ใช่เพราะเป็นเพศที่อ่อนแอ แต่เนื่องจากภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์แตกต่างกัน บวกกับความได้เปรียบของมวลกล้ามเนื้อของผู้ชายที่มีมากกว่า ซึ่ง 1 ใน 3 ของพลังงานที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย มาจากกล้ามเนื้อ แต่ถ้าสาวๆ สายฟิตที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้ร่างกายมากขึ้น และสามารถปรับตัวรับกับความหนาวเย็นได้ดีกว่าเช่นกัน ยกเว้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน ที่อุณหภูมิในร่างกายของสาวๆ จะไม่คงที่ จึงอาจทำให้เกิดอาการขี้หนาวมากกว่าปกติ
ไขมันช่วยได้..จริงหรอ?
นี่อาจเป็นข้อดีของคนที่มีน้ำหนักตัวและไขมันมากกว่า เพราะไขมันเป็นเสมือนฉนวนกันความหนาวมากกว่าคนที่ผอมบาง ทำให้คนเจ้าเนื้อนอกจากจะดูอบอุ่นน่ากอดแล้ว ยังจะทนต่อความหนาวได้มากกว่า นอกจากนี้ที่คนผอมรู้สึกหนาวมากกว่าคนเจ้าเนื้อ เพราะมีค่าดัชนีมวลกาย หรือค่า IBM น้อยกว่า ซึ่งการมีค่าดัชนีมวลกายที่ต่ำมาก คือ ต่ำกว่า 18.5 จะมีความเชื่อมโยงกับระบบหมุนเวียนเลือดที่ไม่ดี หรือการมีภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่อุ่นไปยังแขนหรือขา จึงเป็นเหตุให้คุณรู้สึกหนาวได้นั่นเอง
ดื่มน้ำน้อยไปหรือเปล่า
เป็นธรรมดาที่เมื่ออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ที่ร่างกายไม่ค่อยได้เสียเหงื่อจะทำให้ ความรู้สึกหิวน้ำลดลง ยิ่งเป็นในห้องทำงานที่เปิดแอร์เย็นๆ และกำลังยุ่งอยู่กับงานที่กองอยู่ตรงหน้าด้วยแล้ว เรื่องดื่มน้ำแทบจะเป็นอะไรที่ไม่ได้นึกถึงเลย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเป็นตอนที่ทำงานเสร็จแล้ว หรือดีไม่ดีอาจเป็นตอนพักกลางวันหรือเลิกงานไปเลย ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และมีอุณหภูมิต่ำเกินไป จึงทำให้เลือดไหลเวียนไปยังผิวหนังลดลง และรู้สึกหนาวขึ้นมาได้ ควรกำหนดปริมาณน้ำที่ต้องดื่มในแต่ละช่วงของวัน หรือจิบน้ำขิง น้ำตะไคร้อุ่นๆ ที่มีสรรพคุณช่วยให้เลือดไปหล่อเลี้ยงที่ผิวหนัง และปรับอุณหภูมิร่างกายให้อุ่นขึ้นได้
อายุที่แตกต่าง
ช่วงอายุที่แตกต่างกันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนทนความหนาวได้ไม่เท่ากัน เพราะระบบฮอร์โมนในร่างกายได้เปลี่ยนแปลงไป และทำให้แต่ละคนมีระบบฮอร์โมนที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งหากเป็นคนในวัยใกล้หมดประจำเดือน ซึ่งมักจะมีอาการร้อนๆ หนาวๆ เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลาด้วยแล้ว ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวขึ้นมาได้
การกินก็ดูมีผล
การที่ร่างกายจะต่อสู้กับอากาศที่หนาวเย็นได้ร่างกายจะต้องมีพลังงาน ซึ่งพลังงานที่ว่าก็ได้มาจากอาหารการกินของเรานั่นเอง โดยถ้าอยากเอาชนะความหนาวเย็นให้ได้ก็ไม่ยาก เพียงแค่เพิ่มข้าวกล้อง ข้าวโพด ผักโขม ผักตังกุย กล้วย ลงไปในลิสต์ของที่ต้องซื้อเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตคราวหน้า เพราะอาหารเหล่านี้จะมีโปรตีน และแมกนีเซียม ที่ช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนของเลือด รวมถึงองุ่น ผักสด เมล็ดธัญพืช และผลไม้แห้ง ซึ่งอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ช่วยในการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้ ใบโหระพาสด วิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก ก็ช่วยเพิ่มเกล็ดเลือดให้แก่ร่างกาย ซึ่งถ้าร่างกายมีเกล็ดเลือด และเม็ดเลือดเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีแรงต้านทานกับอากาศหนาวเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งเครียดยิ่งหนาว
ในระหว่างที่กำลังเคร่งเครียดกับการทำงาน หรือมีความวิตกในเรื่องใดก็ตาม ร่างกายของเราจะลดประสิทธิภาพในการหมุนเวียนโลหิตในร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว จึงอาจทำให้อยู่ๆ คุณก็กลายเป็นคนขี้หนาวขึ้นมาได้เอาดื้อๆ แต่หากว่าในระหว่างการทำงานไม่สามารถลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็ให้ลองหาถุงเท้ามาสวมป้องกันความเย็นที่ข้อเท้าก็จะช่วยให้ร่างกายอุ่นขึ้นมาได้ เพราะบริเวณข้อเท้าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไวต่อความเย็นมากที่สุดในร่างกาย หรืออาจจะเปลี่ยนท่าทางการทำงาน ลุกขึ้นมาเดิน ขยับร่างกาย ซึ่งถือเป็นการวอร์มอัพ ช่วยสร้างความอบอุ่นได้อีกทางหนึ่ง