ทำไม? รสชาติอาหารฝรั่งส่วนใหญ่ถึงจืดชืดเหลือเกิน!
ว่ากันว่าสูตรอาหารของชาวตะวันตกแตกต่างจากสูตรอาหารทางฝั่งตะวันออกอย่างสิ้นเชิง ถ้าเราลองสังเกตดีดีแล้วคนเอเชียมักจะเน้นการปรุงรสที่ซอสมากกว่าตัวอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย กลับกันชาวตะวันตกหรือยุโรปชอบปรุงรสชาติเมนูอาหารให้โดดเด่นขึ้นมาเพื่อให้ได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารจริงๆ และนี่คือที่มาว่าทำไมอาหารฝรั่งถึงมีรสชาติจืดความอร่อยแบบไทยๆ
หนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อชาวต่างชาติได้ลองกินอาหารไทยคือความอะเมซซิ่งของซอสหรือน้ำจิ้มต่างๆ และเจ้าตัวซอสหรือน้ำจิ้มนี้เองแหละที่บรรดาเหล่าแม่ครัวหัวป่าจะใช้เสน่ห์ปลายจวักรังสรรค์ปรุงแต่งความอร่อยขึ้นมา เพื่อให้กินคู่กับเมนูมื้อโปรดได้อย่างเอร็ดอร่อย ถ้าย้อนกลับไปถึงยุคสมัยก่อนต้นกำเนิดน้ำพริกก็เกิดขึ้นมาจากการที่ต้องการจะดับคาวสัตว์ชนิดต่างๆ น้ำพริกจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อาหารอร่อยมากขึ้น ต่อมาน้ำพริกจึงถูกนำมากินกับผักชนิดต่างๆ ซึ่งน้ำพริกแต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน อย่างภาคเหนือจะมีน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ภาคอีสานจะมีปลาร้าบอง น้ำพริกปลาย่าง ภาคใต้จะมีน้ำพริกไข่ปู น้ำพริกบูดู ภาคกลางจะมีน้ำพริกกะปิ น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกปลาทู หรือถ้าจะพูดถึงซอสสำหรับกินคู่กับอาหารจนชาวต่างชาติติดอกติดใจเอาซื้อกันจนขาดตลาดก็น่าจะเป็นซอสพริกศรีราชาที่มีความเปรี้ยวเผ็ดนัวคล้ายกับว่าเรากำลังเหยาะทาบาสโกอยู่นั่นเอง ซึ่งการกินอาหารกับเครื่องจิ้มทั้งหลายดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินของคนไทยไปซะแล้ว ถ้าเกิดเราลองตัดเครื่องจิ้มและซอสทั้งหลายไปเราก็อาจจะรู้สึกว่าอาหารจะไม่อร่อยเหมือนเดิมนั่นเอง
ความอร่อยแบบตะวันตก
หลายคนมักจะรู้สึกว่าอาหารฝรั่งหลายๆ เมนูจะมีความจืดชืด กินไปเรื่อยๆ แล้วให้ความรู้สึกที่เลี่ยนจนทานบ่อยๆ ไม่ค่อยได้ หรือแม้กระทั่งการที่เราได้ไปอยู่เมืองนอกนานๆ เราจะรู้สึกโหยหาอาหารไทยต้องการหาอะไรแซ่บๆ กระแทกปากสักหนึ่ง และเมนูอาหารของชาวตะวันตกที่เค้าว่ากันว่าเผ็ดร้อนถึงใจแล้ว เรากินยังไงก็ยังไม่รู้สึกเผ็ดขนาดนั้นอย่างพริกฮาลาปิญโญ่พริกสัญชาติเม็กซิโกที่ว่าเผ็ดกันแล้วก็ยังสู้พริกขี้หนูสวนหรือพริกชี้ฟ้าบ้านเรายังไม่ได้เลย
และสาเหตุที่ชาวตะวันตกไม่เน้นการกินอาหารกับเครื่องจิ้มก็เพราะว่าในสมัยก่อนชนชั้นสูงที่ชอบกินเนื้อสัตว์ทั้งหลายเขามีวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่ต้องการชูรสชาติของเนื้อสัตว์ให้โดดเด่นเท่านั้น การใส่ซอสปรุงรสหรือเครื่องเทศจะทำให้รสชาติของเนื้อหรือเมนูนั้นๆ บิดเบือดไปทำให้ไม่ได้รสชาติที่ต้องการจริงๆ และยังมีการพูดถึงการนำเข้าเครื่องเทศที่มาจากทางตะวัออกเป็นจำนวนมาก ทำให้แม้แต่คนธรรมดาทั่วไปก็ยังสามารถทำอาหารโดยการใส่เครื่องเทศได้ ชนชั้นสูงในสมัยนั้นจึงต้องการแบ่งแยกชนชั้นด้วยการปรุงอาหารแบบไม่เติมเครื่องปรุงเยอะ เน้นรสชาติความอร่อยที่ตัวเนื้อสัตว์และการปรุงอาหารแบบนี้เองจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นได้จากอาหารอย่างเช่น สเต็กหรือสตูที่ทำจากเนื้อสัตว์ต่างๆ สลัดผักเอย สปาเก็ตตี้เอย การแต่งรสอย่างมากของทางตะวันตกจะเป็นในเรื่องของการโรยเกลือหรือพริกไทเพื่อให้ได้รสชาติของเนื้อมากขึ้นเท่านั้นเอง
ดังนั้นเราเลยจะเห็นว่าเวลาเข้าไปนั่งทานอาหารในร้านอาหารสไตล์ยุโรปหรือฝั่งตะวันตกเครื่องปรุงรสต่างๆ จะแตกต่างจากการที่เราเข้าไปนั่งทานอาหารในร้านอาหารไทย ญี่ปุ่นหรือว่าเกาหลีที่เน้นความแซ่บเผ็ด หวาน มัน เค็มที่มีความจัดจ้าน รสชาติที่ได้จากซอสปรุงรสเครื่องปรุงต่างๆ ต้องมาแน่นจัดเต็มทุกจาน เรากินอาหารแถบเอเชียจนเรารู้สึกคุ้นชินความอร่อยแบบนี้ไปแล้ว การไปกินอาหารสไตล์ตะวันตกจึงมีรสชาติจืดชืดไปเลยเมื่อเทียบกับอาหารแถบเอเชียของเรานั่นเอง