ทำความเข้าใจโรคกรดไหลย้อน รุนแรงแค่ไหนก็หายขาดได้ แค่รักษาให้ถูกวิธี ?
หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนในยุคนี้ คงจะหนีไม่พ้น ‘โรคกรดไหลย้อน’ โรคที่เป็นกันถ้วนหน้า เรียกได้ว่าเป็นกันได้ทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยความที่มันเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไรในความคิดของคนส่วนใหญ่ หลายคนเลยอาจจะไม่ได้กังวลหรือรักษาอย่างจริงจัง วันนี้เราเลยไปคุยเรื่องกรดไหลย้อนกันแบบชัดๆ ถามกันแบบเคลียร์ๆ กับคุณหมอวิชัย อยู่ยงวัฒนา แพทย์จากคลีนิกโรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลพญาไท 2 ว่าจริงๆ แล้ว กรดไหลย้อนมันคืออะไร รุนแรงแค่ไหน และถ้าเป็นแล้วจะต้องรักษายังไงเข้าใจก่อนว่า ‘ภาวะกรดไหลย้อน’ กับ ‘โรคกรดไหลย้อน’ ต่างกัน
ก่อนที่จะลงลึกกันในเรื่องกรดไหลย้อน คุณหมอได้อธิบายว่าภาวะกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับทุกคน ซึ่งต่างกับโรคกรดไหลย้อนที่เกิดกับเฉพาะบางคน “กรดในกระเพาะอาหารเนี่ย สามารถไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้เป็นปกติ แต่จะไหลขึ้นมาในปริมาณที่เล็กน้อย ไม่เป็นอันตรายและไม่มีอาการ หรือหากมีอาการก็จะไม่รุนแรงมากนัก แบบนี้เรียกว่าภาวะกรดไหลย้อน ส่วนโรคกรดไหลย้อน คือการที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาในปริมาณที่มากและนานกว่าปกติจนเป็นอันตรายกับเยื่อบุหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลได้ ซึ่งจะมีอาการเรอเปรี้ยว (Acid Light Regurgitation) และแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ตามมา”
‘กรดไหลย้อน’ โรคที่มีสาเหตุร้อยแปดพันเก้า
ถ้าถามถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน ให้คุยกันทั้งวันก็ไม่จบ เพราะเป็นโรคที่มีสาเหตุค่อนข้างหลากหลายแต่วันนี้เราได้สรุปมาเป็น 3 สาเหตุหลักๆ แบบเข้าใจง่าย คือ
สาเหตุจากแรงดันในกระเพาะอาหาร
“อย่างการงอตัว (Bending) ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกายที่ใช้แรงหนักๆ (High Intensity) โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจขึ้นไปถึง 80-90%” ซึ่งทั้งสองพฤติกรรมนี้จะทำให้เกิดแรงบีบและทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น “คิดง่ายๆ ว่าการที่กรดมันไหลย้อนได้ เนื่องจากมันมีความดันในกระเพาะสูง เมื่อมีความดันสูง มันก็จะทำให้ Content ต่างๆ ในกระเพาะถูกดันขึ้นไปที่หลอดอาหาร”
สาเหตุจากพฤติกรรมการกิน
• การกินอาหารที่กระตุ้นการหลั่งกรด ไม่ว่าจะเป็นอาหารมัน อย่างเนื้อสัตว์ติดมัน หรืออาหารประเภทผัดและทอด อาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่กระตุ้นการหลั่งกรด ทั้งชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ
• การกินทีละมากๆ มื้อใหญ่ๆ เช่น พวกชาบู หมูกระทะ หรือบุฟเฟ่ต์ต่างๆ ทำให้กระเพาะขยายไม่ได้ และมีโอกาสที่กระเพาะจะโดนบีบทำให้อาหาร Reflux ขึ้นมาได้ง่าย
• การกินแล้วนอนเลย ซึ่งจะทำให้กรดสามารถไหลย้อนขึ้นสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
สาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะ
“ที่พบได้บ่อยคือหูรูดทำงานผิดปกติ (Hiatal Hernia) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หูรูดเนี่ย มันจะเปิดเฉพาะตอนที่เรากลืน แล้วก็ปิดเพื่อไม่ให้มีอะไร Reflux ขึ้นมา คราวนี้ถ้ามันปิดไม่สนิท ก็มีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้มากขึ้น โดยในทางการแพทย์ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด (Unknown Mechanism)” ซึ่งกรดไหลย้อนที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะจะไม่ค่อยหายขาด เมื่อหยุดยาอาการก็จะกลับมาเป็นใหม่ได้ ในบาง Case จึงมีการรักษาด้วยการผ่าตัด
ถ้าแยกตามความรุนแรง แบ่งกรดไหลย้อนได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ไม่มีแผล
“ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หลอดอาหาร Sensitive เกินไป หรือเกิดจากความเครียด ซึ่งอาการมักจะเป็นๆ หายๆ” คนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นกรดไหลย้อนจะอยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่มที่มีแผล
“ส่วนใหญ่จะพบในคนสูงอายุที่อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมถอยลง คนที่มีภาวะอ้วน เพราะไขมันในช่องท้องจะทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่สูงกว่าปกติ (Intra-abdominal Pressure) และคนที่ตั้งครรภ์ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และช่องท้องที่ใหญ่ขึ้นจนไปดันกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเกิดการ Reflux ของกรดได้ง่าย” โดยปัจจุบัน การจัดระดับความรุนแรงของโรคกรดไหลย้อนจะจัด Grading ในกลุ่มที่มีแผล ตามการแบ่งของ Los Angeles Classification ที่แบ่งความรุนแรงของโรคกรดไหลย้อนออกเป็น 4 ระดับ
The Los Angeles Classification System of GERD
• ระดับ A : มีแผลขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร
• ระดับ B : มีแผลขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร
• ระดับ C : มีแผลขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร และเชื่อมต่อกันหลายแผล จนเป็นแผลใหญ่
• ระดับ D : มีแผลขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร และเชื่อมต่อกันเกิน 75% ของเส้นรอบวงหลอดอาหาร
เริ่มจากกรดไหลย้อน อาจจบที่มะเร็งหลอดอาหาร
กลุ่มที่เสี่ยงคือกลุ่มที่มีแผล เพราะมะเร็งในหลอดอาหารนั้นเกิดจากภาวะที่เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงผิดปกติ (Barrett's Esophagus) ดังนั้นกรดไหลย้อนกลุ่มที่มีแผลจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยง” ซึ่งคุณหมอยังบอกอีกว่า จากการติดตามผู้ป่วยกลุ่มที่มีแผลระดับ C และ D พบว่ามากกว่า 50% กลายเป็น Barrett's Esophagus ภายใน 2 ปี ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง โดยกลุ่มที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนแบบรุนแรงคือกลุ่มที่มีภาวะอ้วน
“เราใช้ Keys แค่ 2 อาการ คืออาการเรอเปรี้ยว (Acid Light Regurgitation) และแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่ง จะทดลองให้ยาลดการหลั่งกรด ซึ่งถ้าอาการดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ สามารถวินิจฉัยได้เลยว่าเป็นกรดไหลย้อน มีโอกาสถูกถึง 90%”
ปรับพฤติกรรมสำคัญสุด … รองลงมาคือกินยา
ถ้าคุณหมอซักประวัติและวินิจฉัยแล้วว่าเป็นกรดไหลย้อน ขั้นตอนการรักษาก็จะให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการให้ยา “กรดไหลย้อนเป็นโรคที่มีคาแรกเตอร์ค่อนข้างชัดเจน คือมันตอบสนองต่อยาลดการหลั่งกรดค่อนข้างดี (Dramatically Reresponse to Anti-acid) ซึ่งถ้าเป็นโรคกรดไหลย้อนที่เกิดจากพฤติกรรมที่ผิดๆ การปรับพฤติกรรมอย่างเรื่องการกิน โดยการกินอาหารไม่มากเกินไปในแต่ละมื้อ งดอาหารมัน อาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอลล์ และบุหรี่ รวมทั้งควรนั่งหรือยืน ให้ศีรษะอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหารหลังกินอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อน ส่วนในคนที่มีภาวะอ้วนก็ควรลดน้ำหนักในระยะยาว เป็นต้น”
“ส่วนเรื่องการให้ยาเนี่ย ยาหลักคือยาลดการหลั่งกรด หรือในทางการแพทย์เราเรียกว่า Proton Pump Inhibitors (PPIs) ซึ่งระยะเวลาในการตอบสนองโดยส่วนใหญ่จะตอบสนองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าภายในหลัง 2 สัปดาห์ไปแล้วไม่ดีขึ้น ก็หาสาเหตุ (Investigate) ด้วยวิธีอื่น เช่น การส่องกล้อง เพื่อเข้าไปดูว่ามีสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ที่ไม่ใช่กรดไหลย้อนหรือเปล่า ที่ทำให้คนไข้อาการไม่ดีขึ้นจากการให้ยาปกติ เพราะทั่วไปถ้าเป็นกรดไหลย้อนจริง อาการควรจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์”
‘ยาลดกรด’ กินนานๆ ผลข้างเคียงเพียบ
“คนที่กินยาลดกรดนานๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เราพบว่ามันทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน และมีโอกาสกระดูกหักง่ายกว่าคนที่ไม่ได้กินยาลดกรด เนื่องจากแคลเซียมจะดูดซึมในภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหาร เมื่อกรดในกระเพาะลดลง การดูดซึมของแคลเซียมก็จะลดลงตามไปด้วย” ซึ่งแคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง
นอกจากนี้ คุณหมอยังบอกอีกว่า กลุ่มที่กินยาลดกรดนานๆ ยังเสี่ยงเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารมากกว่าคนทั่วไปด้วย “เราพบว่ากลุ่มที่กินยาลดกรดนานๆ มีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากเราสันนิษฐานว่า กรดเป็นตัวป้องกันเชื้อโรคด่านแรก (First-line Defense Mechanism)” ซึ่งเมื่อเรากินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป กรดก็จะทำหน้าที่เป็นตัวทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น เมื่อกรดในกระเพาะอาหารลดลง จึงเป็นสาเหตุให้คนไข้กลุ่มนี้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
แล้วขั้นไหนถึงต้องผ่าตัด
“Indication ของการผ่าตัด อย่างแรกคือเราต้องแน่ใจว่าคนไข้เป็นกรดไหลย้อนจริง และมักจะ Response ต่อยานะ แต่ปัญหาคือพอหยุดยาแล้วอาการกำเริบ ซึ่งถ้าปัญหาอยู่ที่หูรูดจริง การผ่าตัดก็จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษา ตรงข้ามกับกลุ่มที่ไม่ Response ต่อยา บางเคสผ่าไป นอกจากจะไม่แก้ปัญหา กลับกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่มด้วย บางคนหลังผ่ามีปัญหาเรื่องกลืนลำบากไปเลย”
“ณ ปัจจุบันการซ่อมหูรูดให้เป็นปกติในกลุ่มที่เป็น Hiatal Hernia เราใช้การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ต้องเป็น Case ที่หูรูดหลวมแบบถาวร (Non-reuseable Hiatal Hernia) แล้วก็ต้องแน่ใจว่าคนไข้ไม่มีโรคอย่างอื่นในหลอดอาหารด้วย ถึงจะ Suitable สำหรับการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นหูรูดเสื่อมแบบชั่วคราว (Reuseable Hiatal Hernia) สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการเสื่อมของหูรูด หูรูดก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติ”
“เรากินอาหารให้พอดี ออกกำลังกายให้พอเหมาะ มันก็จะลดความเสี่ยงภาวะกรดไหลย้อน”