ติ่งเนื้อกับคนสูงวัย จะใช่มะเร็งไหมนะ

“ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจ” ถ้าทำได้ “ติ่ง...เนื้อ” ทั้งหลายคงอยากจะร้องเพลงนี้ เพราะไม่ว่าจะเกิดขึ้นตรงไหนก็ไม่มีใครต้องการ แน่ล่ะใครเขาจะต้องการ เพราะได้มีโครงการศึกษาสุขภาพของนางพยาบาล (Nurses' Health Study) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระยะยาวเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในผู้หญิงของสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการวิจัยที่ระบุว่า การได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานนั้นเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดติ่งเนื้อภายในลำไส้ใหญ่ในช่วงหลังของชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่าแรกเริ่มติ่งเนื้อนี้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีโอกาสกลายไปเป็นเนื้อร้ายต้นเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นี่ขนาดว่าเป็นในลำไส้ที่มองไม่ค่อยเห็นนะ แล้ว “ติ่งเนื้อ” ที่ขึ้นตามผิวหนังเมื่อแก่ตัวลงที่เห็นอยู่ตำตาแบบนี้จะให้ไม่กังวลยังไงไหว



ติ่งเนื้อ = เชื้อมะเร็ง (เหรอ?)
ติ่งเนื้อ (Skin Tags/Acrochordon) คือ ก้อนเนื้อเล็กมีลักษณะนุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นมาและเป็นติ่งอยู่บนผิวหนัง มักมีสีและขนาดที่แตกต่างกัน ลักษณะของติ่งเนื้อที่เพิ่งขึ้นบนผิวหนัง จะเป็นก้อนเนื้อนุ่มมีขนาดเล็กนูนขึ้น และจะค่อยๆ กลายเป็นสีเดียวกับผิวหนัง พบมากบริเวณผิวหนังที่เป็นข้อพับ ได้แก่ คอ รักแร้ ลำตัว ใต้ราวนม บริเวณผิวหนังที่ย่นทับกัน เปลือกตา ต้นขาด้านใน หรือบริเวณหัวหน่าว ซึ่งติ่งเนื้อไม่ได้จัดว่าเป็นเนื้อร้าย รวมถึงไม่อาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังอย่างที่หลายคนกังวล แต่ผู้ที่มีติ่งเนื้ออาจรู้สึกระคายเคืองในกรณีที่ติ่งเนื้อเสียดสีกับเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ หรือถ้าก้านที่ยึดติ่งเนื้อถูกบิด อาจเกิดลิ่มเลือดภายในติ่งเนื้อและรู้สึกเจ็บได้ ซึ่งติ่งเนื้อนี้สามารถพบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 50 - 60 ปี ขึ้นไป โดยมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับผู้ที่น้ำหนักตัวมาก ตั้งครรภ์ รวมถึงมีประวัติคนในครอบครัวเคยเกิดติ่งเนื้อมาก่อน

ต้น - ตอ - ติ่ง...เนื้อ
แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดติ่งเนื้ออาจยังไม่รู้แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อได้ ดังนี้
  • ภาวะดื้ออินซูลิน เนื่องจากร่างกายดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดได้ไม่ดี โดยมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับดัชนีมวลกายที่มาก ภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์สูง และภาวะดื้ออินซูลิน
  • ภาวะอ้วน ผู้ที่ประสบภาวะอ้วน จะป่วยเป็นโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) โดยโรคนี้จะเกิดติ่งเนื้อที่ผิวหนังบริเวณคอและรักแร้เป็นจำนวนมาก
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีระดับฮอร์โมนและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อและภาวะฮอร์โมนที่ไม่สมดุล
  • เชื้อเอชพีวี มีงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาติ่งเนื้อจำนวน 37 ชิ้น ที่ขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และพบว่าติ่งเนื้อร้อยละ 50  ปรากฏดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) จึงอาจสรุปได้ว่าเชื้อเอชพีวีนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อได้
  • พันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเคยมีติ่งเนื้อขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดติ่งเนื้อได้เช่นกัน

ถึงแม้ว่าติ่งเนื้อจะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่ถึงอย่างนั้นผู้ที่เกิดติ่งเนื้อควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โดยเฉพาะถ้าเป็นติ่งเนื้อที่มีลักษณะเหล่านี้
 
  • ก้อนเนื้อมีลักษณะแข็งและพื้นผิวมีลักษณะผิดปกติ
  • ก้อนเนื้อนูนขึ้นมา ไม่ได้โผล่ออกมาเป็นติ่ง
  • แพร่เชื้อหรือเกิดการติดต่อได้ง่าย
  • ก้อนเนื้อมีเลือดออก ทำให้คัน และสีเปลี่ยน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง
 
เพราะติ่งเนื้อมีลักษณะคล้ายหูดหรือไฝ ซึ่งอาจกลายเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งหรือเป็นมะเร็ง ยังไงถ้าจะให้ชัวร์ก็เอาเป็นว่าอย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจติ่ง...เนื้อ แล้วกัน!
-->