ดูแลใส่ใจผู้สูงวัย (ห่างไกล) ซึมเศร้า

ทรงไม่แบดแต่ทำไมแซดบ๊อยบ่อย จะว่าเป็นอย่างที่พี่ป้างบอกไว้ว่า “คนหัวล้านใจน้อยทุกคน” ก็คงไม่ใช่ เพราะดูทรงแล้วก็ (ยัง) ไม่ล้านสักหน่อย หรือจะเกี่ยวกับว่าเป็น สว ซึ่งถ้าเป็นงั้นจริงต้องรีบหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสภาพจิตใจที่ต้องระวังอย่าปล่อยให้ซึมเศร้า เพราะจากข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่าหลังจากปลายปี 2018 ตัวเลขผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี (ราว 705 ล้านคน) พุ่งสูงมากกว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ (ราว 680 ล้านคน) โดยเป็นครั้งแรกที่โลกของเรามีผู้สูงวัยมากกว่าคนในวัยเด็ก และคาดกันว่า ภายในปี 2050 สัดส่วนคนอายุมากกว่า 65 ปี ต่อ คนอายุ 0 - 4 ขวบ จะอยู่ที่ ถึง 2 : 1 ตัวเลขไม่ใช่น้อยๆ แล้วจะปล่อยปละละเลยได้เหรอ 



สูงวัยทำไมถึง (เป็น) ซึมเศร้า
เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป มักมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียวหรือสูญเสียคนรัก แบ่งเป็น อาการซึมเศร้าที่มาก่อนวัยสูงอายุและที่เกิดขึ้นในวัยที่สูงอายุแล้ว ซึ่งมีตั้งแต่อาการเศร้าเล็กน้อย ไปถึงรุนแรงมากจนมีอาการจิตเวชร่วม ส่วนสาเหตุของภาวะซึมเศร้าในเหล่า สว นั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพันธุกรรม ลักษณะนิสัย รวมถึงสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิต แบ่งเป็นสาเหตุใหญ่ๆ คือ เหตุจากร่างกายและจิตใจ ซึ่งภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากร่างกายนั้น จะมีที่มาจากการสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เสียสมดุลทางอารมณ์ ส่วนทางด้านจิตใจนั้น อาจเป็นเหตุจากการถูกทอดทิ้ง จนก่อเกิดความรู้สึกไร้ค่า เบื่อหน่าย จนไม่อยากจะทำอะไร และเกิดภาวะซึมเศร้า 

สัญญาณเตือนซึมเศร้าที่เราต้องรู้
แม้ภาวะซึมเศร้าจะไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ก็ใช่ว่าจะทำเฉยปล่อยผ่านได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ เพราะถ้าปล่อยปละละเลยหรือทำเฉยไม่สนใจก็อาจเกิดเรื่องเศร้าที่สายเกินแก้ ดังนั้นคนใกล้ตัวจึงต้องคอยสังเกตอาการเตือนต่างๆ เหล่านี้
  • อารมณ์เปลี่ยนไป หรือให้ความสนใจในสิ่งที่เคยชอบลดลง
  • รู้สึกตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายชีวิต พูดน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีปัญหาเรื่องการนอน 
  • ความจำไม่ดี สมาธิสั้น
  • รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่มีพลังงาน ทำอะไรช้า อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ



สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้านี้ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การรักษาทางจิตใจและใช้ยา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นอาจใช้การรักษาทางจิตใจก่อน ด้วยการให้เข้าพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนมุมมอง และเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็อาจต้องหันไปใช้ยา ซึ่งวิธีนี้ถึงจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว แต่ก็ส่งผลข้างเคียงอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนคนใกล้ชิดที่ต้องอยู่ร่วมกับ สว ที่มีอาการซึมเศร้าต้องรู้ว่าควรทำตัวแบบไหนจะได้ไม่เป็นปัญหา
  • พูดคุยและรับฟังกันให้มากขึ้น เพื่อ (ทำความ) เข้าใจ
  • ของอันตรายอย่าไว้ใกล้มือ โดยเฉพาะของมีคม อาวุธ สารพิษ ยาอันตราย รวมถึงสารเคมีต่างๆ 
  • ดูแลใส่ใจ ไม่ทิ้งไว้ลำพัง 
  • กินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และไม่ปรับขนาดยาเอง
  • ไปพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

อ่ะ! รู้แบบนี้แล้วต่อไปก็อย่ารำคาญกับการส่งรูปสวัสดีตอนเช้าเลย...
-->