จากเด็กหลังห้อง…สู่ก้าวแรกบนเส้นทางพยาบาลอาชีพในต่างแดน
บางครั้งชีวิตเราก็ไม่มีอะไรแน่นอน…อยากให้ทุกคนลองคิดภาพตามว่าจากวัยเด็กจนมาถึงปัจจุบัน เราเคยคิดมั้ยว่าเราจะได้มาทำอาชีพที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ เชื่อว่าอาจจะเป็นเรื่องขำแต่มันก็แปลกดีเหมือนกันนะ คงเหมือนกับ คุณไอซ์ -อินท์อร สิตานนท์ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์จากคนที่ไม่คิดว่าชีวิตจะมาเป็นพยาบาลอาชีพ และแง่คิดดีๆ ของเธอที่อยากฝากถึงคนที่อยากไปเรียนต่อในประเทศออสเตรเลียอีกด้วยจุดเริ่มต้นที่คิดอยากจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย
“ ตอนสมัยม.3 เราเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ด้วยส่วนตัวเราเป็นคนที่มีรสนิยมชอบต่างชาติ ชอบผู้คนของทางต่างประเทศมากกว่า แล้วด้วยความที่ตอนนั้นเราก็เป็นเด็กที่อาจจะไม่ได้เก่งมาก อยู่ห้องท้ายๆ ตลอด และประเทศของเรายังไม่ได้เปิดกว้างในด้านการศึกษามากสักเท่าไหร่ ก็เลยเริ่มมีไอเดียว่าอยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศ พอเข้า ม.4 เราได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชน ก็เลยเริ่มที่จะเสพสื่อต่างชาติมากขึ้น ดูหนัง ดูซีรีย์เป็น Soundtrack และก็ค่อยๆ ปรับเป็นการคุยกับคนต่างชาติผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น จนเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สนุกแล้วยังแปลกใหม่สำหรับเรา พอเริ่มขึ้น ม.5 แม่ก็เลยอยากให้ลองไปเรียนที่ออสเตรเลียดูในช่วง Summer เพราะยายก็อาศัยอยู่ที่นั่น เราเลยได้ลองไปเรียน Summer ช่วง ม.5 เทอม 2 ตอนแรกคิดว่าจะมาอยู่เพื่อเรียนภาษาเฉยๆ จนอยู่ไปอยู่มา แม่เลยบอกให้เราอยู่ที่นี้ไปเลย ไม่ต้องกลับแล้ว เลยได้เรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลียอยู่ 9 เดือนเต็มๆ ” (หัวเราะ)
Culture Shock การปรับตัวช่วงแรกในสังคมที่ต่าง
“ ช่วงแรกที่เราไปอยู่ สังคม วัฒนธรรมก็จะต่างกันมาก บ้านที่เราอยู่ตอนแรกๆ ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีมาก มีเด็กติดยา เด็กเกเรเยอะ ความพีคคือมีถึงขั้นที่เด็กผู้หญิงท้องยืนดูดบุหรี่เลยอะ คือมันมีอะไรหลายอย่างที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าที่นี่มันโคตรฮาร์ดคอร์เลย แล้วก็เรื่องของการบูลลี่คนเอเชีย แค่เรามีผมสีดำก็จะถูกมองแบบแปลกแยกแล้ว ช่วง 2-3 ปีแรก เวลากลับมาไทย ก็จะย้อมผมตลอด ไม่ปล่อยให้ผมตัวเองขึ้นสีดำเลย อีกอย่างที่ยากที่สุดคือการหาเพื่อนช่วงเรียน เรามาที่นี่ด้วยตัวคนเดียว เราเข้ามาก็เหมือนเป็นเด็กใหม่ เราก็ไม่รู้จักเขา เขาก็ไม่รู้จักเรา แต่สุดท้ายเวลาจะช่วยให้เราค่อยๆ ปรับตัวจนดีขึ้นเอง ”
จากเด็กห้องท้ายมาสู่การเลือกสายพยาบาล
“ ถึงตอนอยู่ไทยเราไม่ได้คิดว่าจะมาเลือกเรียนสายนี้ แต่จริงๆ แล้วลึกๆ ของเรารู้สึกว่าเราเป็นคน Caring คนอื่น ชอบโรงพยาบาล ชอบกลิ่นโรงพยาบาล แล้วบวกกับว่าที่ไทยถ้ามาทำสายนี้อาจจะต้องจบสาย วิทย์-คณิต ถึงเรียนได้ แต่ที่นี่…ไม่เลย ที่ประเทศออสเตรเลียเขาไม่วัดคะแนนจากที่เราเคยเรียนมา แต่เขาวัดคะแนนจากปัจจุบันที่เราทำ เช่น ถ้าเราลงโปรแกรมพยาบาลแล้วสอบผ่าน ไม่ว่าคุณหรือไม่ว่าใคร อายุเยอะแค่ไหนก็สามารถเป็นพยาบาลได้เหมือนกัน ไม่ได้มีการปิดกั้นทางด้านอาชีพเลย เราเลยเลือกที่จะเรียนพยาบาลที่นี่ ”
เก็บเกี่ยวความรู้…เพื่อปูพื้นไปสู่พยาบาล
“ ที่เราเรียนจะมีเรียนภาษาอย่างที่บอกไปตอนแรก คือ 9 เดือน
เรียน Certificate 3 aged care 6 เดือน อันนี้เหมือนคอร์สสั้นๆ จบแล้วเป็นผู้ช่วยพยาบาล ในบ้านพักคนชรา
เรียน Diploma of nursing 1 ปีครึ่ง เพราะเราเข้ามาเรียนต่อที่นี่ตอน ม.5 เลยไม่มีใบจบ ม.6 ต้องเรียนก่อนเข้าปริญญาตรี
เรียน Bachelor of nursing 2 ปี ปริญญาตรี “
ประสบการณ์ฝึกงานที่ได้เรียนรู้ในสิ่งแปลกใหม่
“ที่นี่เขาจะฝึกงานนับเป็นชั่วโมง ของเราน่าจะประมาณ 100 ชม. ช่วงฝึกงานก็จะเป็นช่วงที่เราได้ค้นหาตัวเองนั่นแหละว่าเราจะชอบเป็นพยาบาลสายไหน เราฝึกงานครั้งแรกยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ที่ตื่นเต้นมาก เราเริ่มจากการฝึกงานที่บ้านพักคนชรา ซึ่งการฝึกงานครั้งแรกมันยากสำหรับเรา เพราะเราเป็นคนที่ Sensitive ขี้สงสารคน เราจะต้องดูแลผู้สูงอายุ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ อาบน้ำให้เขา แม้กระทั่งการเช็ดทำความสะอาดสิ่งที่เขาถ่ายหนักออกมา ตอนเห็นครั้งแรกแล้วรู้ว่าเราต้องทำ คือภายใต้แมสเราอะ น้ำตาไหลแล้ว กินข้าวไม่ลงเลยช่วงนั้น แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ชินไปเอง พอหลังจากนั้นก็เริ่มฝึกที่โรงพยาบาลก็จะสนุกมากขึ้นละ เราฝึกที่แผนก ICU ก็จะเป็นแบบ 1-1 ดูแลคนไข้ต่อ 1 คน มันเริ่มยากขึ้นเพราะจะมีเรื่องของยา ความดัน หัวใจ ของคนไข้ และการที่สวนท่ออาหาร ให้อาหารทางสายยางต่างๆ เราต้องทำเป็นทุกอย่าง”
เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเป็นพยาบาลในห้องผ่าตัด
“ ตอนที่เราเป็นพยาบาลแผนก ICU เราต้องมีการพูดคุยกับคนไข้ จนบางครั้งเหมือนเรา Connect กับคนไข้ เราเห็นใจคนไข้เยอะมาก แล้วเราก็รู้สึกสงสารเขาจนเอาความรู้สึกของคนไข้เข้ามาเป็นความรู้สึกของตัวเองไปด้วย ทำให้เราไม่สามารถที่จะปฎิบัติงานอย่างดีที่สุดได้ ก็เลยคิดว่าตัวเองไม่น่าเหมาะกับการเป็นพยาบาลที่ต้องติดต่อกับคนไข้โดยตรง ก็เลยเลือก Instrument/Circulating Nurse (พยาบาลส่งเครื่องมือในห้องผ่าตัด) ”
หลังจากเลือก Instrument/Circulating Nurse ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ อย่างตอนแรกที่เราเรียนมา เราจะมีการเรียน ฉีดยา ปรับสายน้ำเกลือ ทำแผลต่างๆ แต่พอเราเลือกที่จะเป็นพยาบาลผ่าตัดเนี่ย ทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย มันก็เหมือนเราต้องเริ่มนับ 1 ใหม่เหมือนกัน เราต้องมาเริ่มเรียนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ และเรื่องของ Positioning การนอนของคนไข้ เช่น คนไข้จะมาผ่าตัดตำแหน่งนี้เขาจะต้องนอนท่าไหน แต่เราก็มีพื้นฐานจากที่ผ่านมาในระดับนึงก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ”
ประสบการณ์จากห้องผ่าตัด และสิ่งที่ประทับใจไม่มีวันลืม
“ เรารู้สึกว่าเรามีความสำคัญกับตำแหน่งนี้มาก เราได้อยู่ใกล้ชิดคนไข้ ได้เห็นขั้นตอนต่างๆ เรารู้สึกว่าทุกตำแหน่งมีความสำคัญ ถ้าขาดใครคนนึงไปก็ไม่ได้ และทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกันคือทำยังไงก็ได้ให้คนไข้ปลอดภัยที่สุด” และแน่นอนว่าเธอเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากสิ่งที่เธอได้เจอในแต่ละวัน “มีหลายเหตุการณ์มากที่ทำให้เราประทับใจและสอนอะไรเราหลายๆ อย่าง แต่ที่เรารู้สึกดี ก็คงจะเป็นตอนที่ผ่าตัด CABG (บายพาสหัวใจ) แบบ off pump คือ ทำการต่อเส้นเลือดจากแขนแบบที่หัวใจยังเต้นเองอยู่ ซึ่งมีหมอที่ทำเคสแบบนี้อยู่ไม่ค่อยเยอะมาก แล้วหมอก็หยิบหัวใจของคนไข้มาวางไว้บนมือเรา แล้วคิดดูว่าหัวใจดวงนั้นกำลังเต้นอยู่บนมือเราอยู่เลย มันคือหัวใจของคนๆ นึงเลยนะ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกดีมาก ”
ส่งต่อแง่คิดดีๆ สำหรับคนที่สนใจอยากมาเป็นพยาบาลอาชีพ
“ อย่างแรกเลยเราต้องทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ใช่คิดว่าอยากทำพยาบาลเพราะมันเป็นอาชีพที่ง่ายสุดที่ทำให้เรามาอยู่ออสเตรเลียได้หรือเป็นอาชีพที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เราเป็นคนที่นี่ ถ้าคิดแบบนั้นมันก็จะไม่มีความสุข เราต้องชอบในสิ่งที่เราทำก่อน การเตรียมตัวที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของภาษา และข้อดีอย่างนึงของประเทศนี้คือค่อนข้าง Diverse มีความหลากหลาย มีทุกเชื้อชาติ เขาไม่ปิดกั้นทุกคนสามารถมีอิสระได้ ถึงคุณจะมีรอยสัก เจาะหู อะไรก็แล้วแต่ที่นี่มองกันที่ Performance คนที่นี่เขามี Mindset ว่า คุณไม่สามารถจะมาตัดสินคนๆ นึงได้เพียงแค่เขามีรอยสัก ถ้าใครที่จะมาไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย ขอแค่เลือกทำในสิ่งที่ชอบแค่นั้นเอง ”