จากหมอที่รักในการทำอาหาร สู่เจ้าของคาเฟ่เพื่อสุขภาพ



ถ้าใครได้ดูรายการ MasterChef Thailand Season 2 คงจะรู้จัก หมอตั้ม นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข ผู้เข้าแข่งขันที่มีดีกรีเป็นถึงคุณหมอ เขาคือตัวอย่างของคนที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเอง จากคนที่เกือบจะตกรอบในช่วงแรก จนทะลุผ่านไปถึงรอบ 6 คนสุดท้ายได้ วันนี้เขาได้ก้าวไปอีกขั้นในเส้นทางสายอาหารกับการเปิดคาเฟ่เพื่อสุขภาพภายใต้ชื่อ Atomic Pills โดยนำความรู้จากทั้งทางด้านการแพทย์และการเป็นเชฟมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว



เริ่มจากงานอดิเรกในวัยเด็ก จนกลายเป็น “หลงรัก” โดยไม่รู้ตัว
พอย้อนถามถึงจุดเริ่มความชอบในการทำอาหาร เขาเล่าให้ฟังว่า “จริงๆ ตั้งแต่เด็กเลยครับ เริ่มจากว่ากลับบ้านมาไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไหร่ เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้อนุญาตให้เล่มเกมนานขนาดนั้น ก็เลยต้องหางานอดิเรกอื่นทำ ตอนนั้นไปจบที่ทำอาหารเย็น ก็ชอบโดยไม่รู้ตัว จนตอนหลังทำมาเรื่อยๆ”

“น้ำพริกกะปิ” จานแรกของความอร่อย 
และในที่สุดเขาก็มีโอกาสได้โชว์ฝีมือการทำอาหารให้ที่บ้านทานเป็นครั้งแรก “เมนูแรกที่ทำเลยจริงๆ คือน้ำพริกกะปิ ตอนนั้นแม่บ้านลาไปต่างจังหวัด เหลือแม่บ้านคนเดียว เขาต้องทำทุกอย่าง เราเลยไปช่วยทำอาหาร ทอดนู่นทอดนี่ทอดนั่นแล้วก็จำๆ สูตรจากแม่บ้านมา ก็เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ชมว่าอร่อย ก็เลยเป็นกำลังใจให้เราได้ทำอาหารไปเรื่อยๆ” 

ใช้ความรู้จากการทำอาหาร เพื่อต่อยอดในการรักษาคนไข้ 
ตอนที่เป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่สมุทรสาคร เขาลองนำความรู้ในด้านการทำอาหารมาแนะนำผู้ป่วยโรคต่างๆ และมันได้ผล “ มันทำให้คนไข้รู้สึกเหมือนเราพูดภาษาเดียวกับเขาและเขาสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ไปเจอญาติคนไข้คนนึงที่เค้าทำอาหารให้คุณแม่ที่เป็นเบาหวานทานอยู่แล้ว เค้าก็คิดว่าเค้าทำอาหารให้คุณแม่ดีแล้วนะ ทำไมยังคุมเบาหวานได้ไม่ดี เราก็เลยลองถามว่าทำยังไง ใส่อะไรบ้าง ลองไปปรุงนู่นปรุงนี่ปรุงนั่นดีมั้ย เป็นภาษาที่เราคุยกันแบบคนทำอาหารคุยกันแล้วเข้าใจ ปรากฏว่าพออีก 3 เดือนมาตรวจ น้ำตาลลดลงจริงๆ” เมื่อเห็นแล้วว่าได้ผล เขาเลยนำเทคนี้ไปปรับใช้กับคนไข้รายอื่นๆ ต่อ



ความคิดสร้างสรรค์ คือทักษะใหม่ที่ได้จาก Master Chef
การได้ไปแข่งรายการ MasterChef เป็นการฉีกกฎการทำอาหารแบบเดิมๆ ของเขา เพราะนอกจากจะต้องคิดเร็วทำเร็วแล้ว ยังต้องครีเอทเมนูใหม่ๆ ตลอด “ปกติจะเปิดดูตามหนังสือทำอาหารมาตลอด ไม่เคยต้องคิดเมนูเอง พอมาเจอรายการที่ต้องคิดทันที วิ่งเข้าไปใน supermarket ต้องหยิบทันที ตอนแรกๆ ก็เบลอเหมือนกัน แต่ตอนหลังๆ พอคุ้นชินกับรูปแบบรายการมากขึ้น เราก็รู้ว่าเราต้องเตรียมตัวยังไง รู้ว่าลองเอาเมนูที่เราเคยทำมาผสมกับอันนี้ได้หนิ เราก็เริ่มพัฒนาการหยิบนู่นหยิบนี่มาใส่มากขึ้น เหมือนเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเรามากขึ้น”

“Atomic Pills” คาเฟ่ที่ทำให้เชื่อว่า “ของหวานก็ดีต่อสุขภาพได้”
จากการที่เขาเองก็เป็นคนรักขนมหวาน ทำให้เกิดไอเดียว่าอยากส่งต่อแนวคิดดีๆ สู่ผู้บริโภค ว่าของหวานก็ดีต่อสุขภาพได้เหมือนกัน “เราต้องการจะทิ้งระเบิดไอเดีย ล้างให้หมดเลยว่าจริงๆ ถ้าเกิดเราเลือกวัตถุดิบดีๆ เราเลือกการอบดีๆ มันก็สามารถทำให้ของหวานดีต่อสุขภาพได้ แล้วบางทีมันก็สามารถเสริมพวกวิตามินอะไรที่ของคาวมันให้ไม่ได้ ก็เหมือนเป็นการทิ้งระเบิดล้างไอเดียเก่าๆ แล้วป้อนยา คือป้อนไอเดียใหม่ให้เค้าว่าจริงๆ มันดีต่อสุขภาพได้ ก็เลยใช้ชื่อร้านว่า Atomic Pills” 



เสิร์ฟความอร่อย ที่มาพร้อม “สุขภาพดี” ไม่รู้ตัว
ด้วยความที่เป็นทั้งสายของหวานและสายสุขภาพ เขาเลยตั้งใจที่จะทำให้ร้านขนมหวานของเขาเป็นร้านที่ลูกค้าสามารถแวะเวียนมาทานได้บ่อยๆ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะอ้วน “อยากให้ลูกค้าได้สุขภาพโดยไม่รู้ตัว คือเราต้องการที่จะทำขนมให้รสชาติดีเหมือนเดิม ให้เค้ารู้สึกเหมือนเค้ากินขนมที่เค้าเคยกินมาตลอด แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากมันลดไขมันไปเยอะ ลดแป้งไปเยอะ ทำให้กินแล้วได้แคลอรีที่ต่ำลง บวกกับได้วิตามิน ได้สารต้านอนุมูลอิสระโดยไม่รู้ตัว”

“Atomic Bowl” เมนู Signature ที่ห้ามพลาด
หนึ่ง signature ของร้านที่เขาตั้งใจคิดค้นขึ้นมาให้มีทั้งรสชาติที่ลงตัวและยังคงคอนเซ็ปต์เพื่อสุขภาพไว้ “Atomic Bowl มันก็คือไอเดียจากตัว acai bowl เกิดจากตัวผลไม้ที่ชื่อ acai รสชาติมันจะออกฝาดแล้วก็เปรี้ยว ถ้าเทียบกับผลไม้ไทยก็คือน่าจะเหมือนแบบพวกตะลิงปลิง หรือว่าพวกมะม่วงหาวมะนาวโห่ ที่กินเปล่าๆ คงแบบกินไม่ได้ มันฝาดมาก เราก็เลยเอามา blend กับผลไม้อื่นๆ ที่มีรสชาติหวาน แต่ก็ยังมีวิตามินสูงอยู่ เช่นพวกราสเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ให้มันมีรสชาติเปรี้ยวกำลังดีแล้วก็หวานกำลังดีโดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มน้ำตาลลงไป”



“ผมว่าในเรื่องของทั้งอาหารหรือการรักษาทางการแพทย์มันเกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมด คืออาหารเป็นด่านแรกที่ทำให้สุขภาพเราดี ถ้าเกิดเราเลือกทานดีๆ เราเลือกวัตถุดิบดีๆ ที่ดีต่อร่างกาย เราออกกำลังกายสม่ำเสมอ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ เพราะสุขภาพเราดีตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็เหมือนเป็นคนที่ป้องกันไม่ให้เกิดโรคซะมากกว่า แต่หน้าที่ของหมอคือ เมื่อคนเกิดโรคแล้วเรามีหน้าที่รักษาให้เค้าหายกลับไปเป็นปกติ”
-->