ง่วงนอนบ่อย สัญญาณอันตราย! ที่คุณอาจไม่รู้ตัว
อาการง่วงนอนเป็นอาการที่เกิดขึ้นปกติ เพราะเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ หรือรู้สึกอ่อนเพลียก็มักมีอาการหาวหรือง่วงนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองง่วงนอนบ่อยๆ จนทำให้รู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกอยากจะหลับตลอดทั้งวันจนผิดสังเกต โปรดระวังให้ดี เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่อไปนี้ได้เหล่านี้!!
#โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)
เป็นโรคที่เกิดจากการอ่อนเพลียติดต่อกันอย่างยาวนาน จนทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง โดยโรคนี้อาจก่อให้เกิดอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ นอนหลับไม่สนิท หรือรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เป็นต้น
#โรคเครียด
เนื่องจากความเครียดจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมน และระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกาย จนเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย และอาหารไม่ย่อย ซึ่งเมื่ออาการเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย จนเกิดเป็นอาการเรื้อรัง และนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย
#โรคเบาหวาน
อาการอ่อนเพลียเป็นหนึ่งในอาการของโรคเบาหวาน เพราะมีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเมื่อระดับน้ำตาลสูงก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย แผลหายช้า หรือมีอาการชาที่ปลายมือและเท้า หากมีอาการเหล่านี้เมื่อไหร่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
#โรคโลหิตจาง
การง่วงนอนบ่อยๆ อาจเป็นอาการของโรคโลหิตจางได้ สาเหตุอาจมาจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้อาจมีภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กหรือมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ก็จะทำให้รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
#โรคไทรอยด์
เมื่อฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำกว่าปกติ ก็อาจแสดงอาการอ่อนเพลียหรือรู้สึกว่าง่วงนอนบ่อยๆ จนรู้สึกผิดปกติ ยิ่งถ้าหากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไทรอยด์ได้
อาการง่วงนอนบ่อยๆ นอกจากจะทำให้รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลียทำให้ไม่รู้สึกสดชื่นแล้ว อาจส่งผลให้เราทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ทางที่ดีควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หรือหากมีอาการง่วงนอนเรื้อรังจนผิดปกติ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป