ขริบดีไหม? กลัวน้องชายเจ็บ



แม้ธรรมชาติจะสร้างให้เด็กผู้ชายเกิดมาพร้อมกับการมีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ แต่เนื้อเยื่อส่วนนี้อาจสร้างปัญหาได้ เพราะด้านในของมันจะมีลักษณะเป็นชั้นเยื่อเมือกซึ่งก็เหมือนกับภายในหนังตาและภายในปากของเรานั่นเอง และจากการที่สภาพโดยรวมในจุดนี้จะมีความชุ่มชื้นสูงจึงเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดๆ ได้ง่าย

จะขริบดีไหม?
สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ภายในบริเวณหนังหุ้มปลายของน้องชายเป็นจุดหนึ่งที่เอื้อให้มีการสะสมของเชื้อโรค การที่มีหนังหุ้มปลายที่ตีบหรือหนาจนไม่สามารถเปิดออกมาล้างทำความสะอาดได้ยิ่งจะส่งผลมากขึ้น ในกรณีแบบนี้อาจจำเป็นจะต้องขริบเพื่อสุขอนามัยที่ดี แต่หากหนังหุ้มปลายนั้นสามารถเปิดออกได้ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขริบ เพราะเมื่อไหร่ที่น้องชายไม่มีหนังหุ้มปลายแล้วก็จะสร้างโอกาสในการสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้นเช่นกัน แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ก็ไม่ได้สนับสนุนหรือห้ามการขริบแต่อย่างใด

หรือยังไม่มีใครบอกได้
มีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่าชายแอฟริกันที่ขริบแล้วและมีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อ HIV ต่ำกว่า 60% โดยมีการวิเคราะห์กันว่า อาจเป็นเพราะปกติบริเวณหนังหุ้มปลายจะมีเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cells) อยู่ และเชื้อเอชไอวี (HIV) จะแทรกซึมผ่านทางเซลส์นี้ได้ดี แต่คนที่ขริบแล้วเซลล์ตรงนี้จะหายไปทำให้ลดโอกาสการแทรกซึมของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่มะเร็งองคชาติคงไม่ใช่การขริบหรือไม่ขริบ เพราะยังมีข้อมูลสนับสนุนไม่มากพอ ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยถุงยางอนามัยน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

ความสุขทางเพศ
ผู้ชายส่วนใหญ่ยังกังวลว่าการขริบจะทำให้ความรู้สึกทางเพศหรือความสุขทางเพศลดน้อยลง เพราะในทางสรีระแล้วที่ปลายอวัยวะเพศชายจะมีปมประสาทจำนวนมากที่ให้ความสุขในขณะมีเพศสัมพันธ์ การขริบจะทำให้เสียปมประสาทส่วนนี้ไปบางส่วน แถมเมื่อขริบแล้วส่วนหัวของน้องชายก็จะต้องถูกเสียดสีกับสิ่งที่มาสัมผัสโดยตรงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความไวหรือความรู้สึกต่อการสัมผัสค่อยๆ ลดลง

ขริบต้องได้รับการยินยอม
ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียและประเทศเยอรมนี การขริบให้เด็กโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะในด้านสิทธิของเด็กแล้ว เด็กไม่ควรได้รับการขริบโดยไม่ยินยอม การบังคับหรือการกำหนดให้เด็กขริบถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างหนึ่ง ผู้ปกครองและแพทย์มีหน้าที่ให้ความรู้ จนเมื่อเด็กโตขึ้นและบรรลุนิติภาวะแล้ว เขาเองจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะขริบหรือไม่

หนังหุ้มปลายกับเซลล์ต้นกำเนิด
ไม่น่าเชื่อว่าหนังหุ้มปลายของทารกจะเป็นหนึ่งในเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงรักษาผิวบริเวณที่ถูกไฟไหม้ได้ ซึ่งหนังหุ้มปลายของทารก 1 คน สามารถนำมาเพาะเลี้ยงเป็นผิวหนังใหม่ได้ถึง 2.3 หมื่นตารางเมตร หรือมากพอที่จะคลุมสนามฟุตบอลได้เลยทีเดียว แบบนี้อาจจะเรียกได้ว่า องคชาติหรือแม้แต่หนังหุ้มปลายมีส่วนสำคัญในการให้กำเนิดซะจริงๆ 


 
-->