กินยาคุมบ่อยๆ ทำให้เสี่ยง 'มะเร็งเต้านม' จริงหรอ?

สมัยนี้จะบอกว่าสาวๆ คนไหนไม่รู้จักยาคุมก็คงเป็นเรื่องแปลก เพราะผู้หญิงยุคใหม่ส่วนใหญ่อาจใช้ยาคุมกำเนิดกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยทำงาน หรือไม่ว่าวัยไหนๆ ถึงแม้ว่ายาคุมกำเนิดจะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายก็จริง แต่ก็ยังไม่วายมีเรื่องถกเถียงกันมานานแสนนานว่าตกลงแล้วกินยาคุมบ่อยเกินไปจะเสี่ยง ’มะเร็งเต้านม’ จริงมั้ย!?



เรื่องนี้ทำให้ชวนสงสัยกันอยู่ไม่น้อย เพราะก็ยังมีงานวิจัยอีกมากมายที่ออกมาถกเถียงกัน ซึ่งมีผลสำรวจที่มีทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยง อย่างผลการสำรวจจากการศึกษาของ Women's Contraceptive and Reproductive Experiences (Women's CARE) เป็นการศึกษาความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่ทำผลสำรวจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1994-2002 ชี้ว่าความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเคยใช้มาก่อน หรือกำลังใช้อยู่ก็ตาม 

รู้ก่อนใช้...ยาคุมกำเนิด
การใช้ยาคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์เปลี่ยนระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายเพื่อยับยั้งการตกไข่ ซึ่งถ้ากินอย่างถูกวิธีจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้ากินผิดวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์และรวมถึงผลข้างเคียงตามมาได้เหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันยาคุมกำเนิดมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ 
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ยาคุมชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงเวอร์ ถ้าเรากินเป็นกระจำทุกวันนอกจากจะช่วยคุมกำเนิดแล้ว ยังมีผลดีช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย  
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ชนิดเดี่ยว สามารถกินได้ทุกวันโดยไม่ต้องหยุด ส่วนมากเมื่อใช้แล้วสาวๆ จะไม่มีประจำเดือน
  • ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน สาวๆ ควรใช้ตอนฉุกเฉินเท่านั้น เพราะยาคุมชนิดฉุกเฉินมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ประสิทธิภาพต่ำ และอาจเพิ่มโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
 


ฮอร์โมนสูง…ไม่ได้ดีเสมอไป
ยาคุมที่ได้อธิบายมาส่วนใหญ่จะเป็นยาคุมที่มีขายได้ทั่วไปแบบ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยปกติแล้วความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งของผู้หญิง จะขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่สูงเป็นเวลานาน อย่างเช่น
  • มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี
  • ประจำเดือนหมดช้า หรือหมดหลังอายุ 55 ปี
  • มีลูกคนแรกหลังอายุ 30+
  • สาวๆ ที่ไม่มีลูก

สาวๆ ที่ฮอร์โมนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว การใช้ยาคุมจึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ยาคุมกำเนิด เสี่ยง VS ไม่เสี่ยง ต่อ (เต้า) นม
ถึงแม้ว่าการกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มะเร็งเต้านมก็สามารถเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติผิดปกติ โดยมีฮอร์โมนในอัตราที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเป็นสาเหตุให้มีความเสี่ยงของเนื้อเยื่อเต้านมผิดปกติเพิ่มสูงขึ้นได้ และจะมีผลที่ตามมาต่อเมื่อกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป หรือจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นไปอีก ในสาวๆ ที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนตามธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงยาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในสาวๆ ที่มีประวัติญาติ พ่อ แม่ พี่ น้องเป็นมะเร็งเต้านม และน้องๆ ที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่วัยรุ่นอีกด้วย


ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม…สาวๆ ทั้งหลาย ทั้งคนที่กินยาคุมและไม่ได้กินยาคุม ทุกคนควรหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ อย่างน้อยป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด และถ้าเกิดพบก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านม ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรักษาได้ทันและไวมากยิ่งขึ้น เป็นผู้หญิงต้องสตรอง!

สนใจ แพ็คเกจตรวจมะเร็งหญิง คลิก!
-->