กลัวการไว้ใจอย่างนี้ เพราะอะไรเป็นเหตุ

“จุดอ่อนจากการที่ไว้ใจ คือโดนทำลายแทบเสียคน” ถ้าหากเนื้อเพลงนี้ยังคงจี๊ดใจทุกครั้งที่ได้ยิน แถมที่มากกว่านั้นยังเข็ดขยาดจนไม่กล้าไว้ใจใคร และกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ยังคงสถานะโสดมาจนทุกวันนี้ นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณกำลังกลัวการไว้ใจ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เพื่อหนีจากความโสดเท่านั้น แต่ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Psychiatry บอกไว้ว่า โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น ซึ่งเป็นความกลัวที่เฉพาะเจาะจง อาจส่งผลที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงภาวะข้อต่ออักเสบต่างๆ ไมเกรน และโรคต่อมไทรอยด์ได้อีกด้วย ลำพังแค่โสดอย่างเดียวก็แย่แล้ว นี่ยังมีความเสี่ยงของโรคขึ้นมาอีกแบบนี้...ต้องรีบแก้แล้วล่ะ!



“กลัวการไว้ใจ” ไม่ใช่นิสัยแต่เป็น “โรค”
โรคกลัวการไว้ใจ หรือ Pistanthrophobia เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่มักจะพบได้บ่อยๆ ในลักษณะของคนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อนสนิท หรือคนใกล้ชิด แต่โดยส่วนมากแล้วอาการแบบนี้มักจะพบได้ในผู้ที่มีความสัมพันธ์เชิงคู่รัก เป็นโรคที่กลัวความเจ็บปวดจากการไว้ใจคนอื่นมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นผลจากความรักครั้งก่อนที่อาจเคยถูกหักหลัง นอกใจ หรือหลอกลวง จนทำให้รู้สึกถึงความหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจ เพราะกลัวว่าจะได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจจากคนรักหรือคนใกล้ชิด ทำให้มีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ และอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน คือทำให้ขาดสมาธิในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญยังเป็นการลดความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้ขาดความมั่นใจ และเกิดอาการเฉพาะที่แตกต่างจากความกลัวทั่วๆ ไป คือ ตื่นตระหนก หวาดกลัว อยากจะหนีไปจากสิ่งที่กลัวตรงนั้น มีอาการหายใจถี่ หัวใจเต้นแรงและเร็ว ตัวสั่น

โดยมีอาการเหล่านี้เพิ่มเติมขึ้นมาคือ
  • มักหาเหตุที่จะหลีกเลี่ยงการพบปะ พูดคุย หรืออยู่ใกล้กับคนที่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรือคนที่เป็นต้นเหตุของแผลในใจ
  • ต้องการการปกป้อง และพร้อมที่จะถอนตัวจากสถานการณ์ที่กระทบจิตใจ
  • ปฏิเสธและไม่ยอมรับผู้ที่พยายามจะเข้าหา หรือพยายามสานสัมพันธ์ด้วย 
  • มีความวิตกกังวลและอยากจะหนีออกไปจากการสนทนาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อน 

เพราะเหตุนี้ที่ทำให้ไม่ไว้ใจที่มาหรือสาเหตุของโรคกลัวการไว้ใจผู้อื่นนี้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อใจหรือความไว้ใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองถูกหักหลัง ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ก็จะทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาในใจ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมดซะทีเดียว เพราะยังมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวนี้ ที่เกิดมีอาการขึ้นโดยที่ไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์แย่ๆ ที่กระทบต่อความไว้ใจจนกลายเป็นความหวาดกลัวมาก่อน แต่เกิดจากการที่ มีความนับถือในตัวเองต่ำ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นคนที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง และมักเกิดความกังวลว่าถ้าคนอื่นรู้ว่าตัวเองไม่ได้ดีอย่างที่คิด หรือเป็นอย่างที่คาดหวัง จะทำให้ถูกปฏิเสธ จนหวาดระแวงเพราะคิดว่าทุกคนที่เข้ามาจะไม่มีใครจริงใจด้วยนั่นเอง

กลัวการไว้ใจ...เป็นได้ก็หายได้“ความไว้ใจ สร้างไม่ง่าย ทำลายไม่ยาก” คำพูดนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องยึดติดจนเกินเรื่อง เพราะถึงจะเคยถูกหักหลังมาก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเจอแบบเดิมซ้ำๆ ฉะนั้นปล่อยให้ประสบการณ์ที่เลวร้ายเป็นบทเรียนสอนใจที่เตือนให้คอยระวัง (แต่ไม่ต้องถึงขั้นระแวง) แล้วมูฟออนเดินหน้าต่อไปด้วยวิธีการ ดังนี้
  • ให้อภัย เลิกโทษทั้งตัวเองและคนอื่นที่มาทำร้ายเรา เพื่อเป็นการปลดล็อกและทำให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้
  • เพิ่มความเชื่อมั่น ด้วยการมองหาเรื่องดีๆ ของตัวเอง แทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ในเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ
  • ใช้เวลาศึกษาให้พอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและทบทวนตัวเอง หรือคนในอนาคตที่จะเข้ามา คืออย่าเพิ่งรีบหาใครมาดามหัวใจ เพราะถ้ารีบแล้วต้องผิดหวังซ้ำอีก ก็มีแต่จะยิ่งตอกย้ำและนำไปสู่โรคกลัวการไว้ใจในที่สุด
  • เริ่มรักใหม่แบบใสกิ๊ง คือให้ลืมรักครั้งเก่าและทำเหมือนว่าไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เพราะนอกจากทำให้เกิดการเปรียบเทียบแล้ว ยังอาจสร้างความหวาดระแวงจนทำให้รักครั้งใหม่ต้องสะดุดหรืออาจหยุดลงได้

การจะไว้ใจใครก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่เราสามารถที่จะเลือกปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้คนที่เข้ามาในชีวิตของเราได้ อาจจะค่อยๆ เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทัศนะคติของเราที่มีต่อคนอื่นก่อน หรือถ้ารู้สึกว่าพยายามแล้วแต่มันไม่ได้จริงๆ ก็ลองไปพบจิตแพทย์เพื่อให้คุณหมอหาทางออกที่ดีขึ้นให้กับเรา
-->