“ถังแตก” ไม่รู้ตัว ถ้ายังมีพฤติกรรมแบบนี้
ได้ยินข่าว “ปฏิญญามหาสารคาม” ก็ต้องแปลกใจ
เมื่อกลุ่มวิชาชีพครู จ.มหาสารคาม รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 พร้อมขอให้ลูกหนี้โครงการ ช.พ.ค ทั่วประเทศรวม 450,000 แสนคน ร่วมกันยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป ในการประชุมผู้นำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากข่าวนี้คือ ความไม่มีวินัยทางการเงิน จนต้องกู้หนี้ยืมสิน และด้วยความไม่มีวินัยก็ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
แต่ก่อนจะมองในภาพใหญ่ เราลองพิจารณาพฤติกรรมการเงินของเราสักหน่อยดีกว่า ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง “ถังแตก” หรือเปล่า และนี่คือ 5 สัญญาณว่าคุณไม่ได้เก่งเรื่องการเงินอย่างที่ตัวเองคิด
1) ไม่มีเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน มันจะมีอะไรชัดเจนไปกว่าการไม่มีเงินเก็บอีกล่ะ... แล้วเราแต่ละคนควรมีเงินเก็บเท่าไหร่กัน? ผู้เชี่ยวชาญการเงินแนะว่า เราควรมีเงินเก็บในบัญชีคิดเป็น 3 เท่าของเงินเดือน เช่น นาย ก มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท ก็ควรมีเงินเก็บขั้นต่ำ 75,000 บาท ไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน
2) ไม่เคยตรวจเช็คว่าใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าเงินตัวเองไปไหน ยอดเงินในบัญชีเหลือเท่าไหร่ หรือยอดบัตรเครดิตตอนนี้เหลือเท่าไหร่กันแน่
3) มีเหตุผลมากมายให้กับการใช้จ่ายของตัวเอง หากมีคำพูดติดปากว่า “ของมันต้องมี” ถือเป็นสัญญาณอันตรายว่าคุณใช้เงินเก่งแต่ไม่ยอมรับตัวเอง
4) ชำระหนี้บัตรเครดิตแค่ยอด “ขั้นต่ำ” ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด การจ่ายขั้นต่ำเป็นพฤติกรรมที่ควรหยุด เพราะมันจะเป็นต้นทุนราคาแพงในระยะยาว หรือบางคนมักจะลืมจ่ายเงินค่าบัตรเครดิต หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิต จนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นประจำ
5) ไม่สนใจเรื่องเงิน ถ้าคุณเลี่ยงจะคิดถึงเรื่องเงิน หมายความว่าคุณไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำบัญชีรายรับรายจ่าย คนที่จัดการเรื่องเงินเก่ง มักทำบัญชีรายรับรายจ่าย และจำได้ว่าใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง
ไม่มีปัญหาใดสายเกินแก้... เราเลยมาแนะนำวิธีง่ายๆ ของการเริ่มต้นสร้างวินัยทางการเงินให้ตัวเอง
- ทำบัญชีทรัพย์สิน : อาจดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่การรู้ว่าเรามีทรัพย์สินโดยรวมเท่าไหร่ ทั้งบัญชีธนาคาร ประกันเงินออม บ้าน คอนโด รถยนต์ เงินออมหลังเกษียณ อีกรายการเป็นยอดหนี้/ยอดค่าใช้จ่ายโดยรวม เงินกู้ทุนการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล หนี้บัตรเครดิต แล้วลบยอดหนี้ออกจากยอดทรัพย์สินที่ครอบครอง จะได้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่คุณมี การเผชิญหน้ากับตัวเลขเหล่านี้จะช่วยให้เครียดน้อยลง ถึงแม้ว่ามันยังไม่ใช่ตัวเลขที่เราต้องการ แต่ความชัดเจนนี้ก็เป็นก้าวสำคัญของการมีวินัยทางการเงิน
- ทำบัญชีรายรับรายจ่าย : การบันทึกว่าใช้จ่ายไปกับอะไร จะช่วยให้เห็นเส้นทางการเงินว่าเข้าและออกทางไหนบ้าง สิ่งที่ทำให้ใช้จ่ายเกินส่วนใหญ่คือ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของขวัญ การท่องเที่ยว สิ่งบันเทิง ลองใช้แอป Empower ช่วยในการบันทึกรายรับรายจ่าย จะช่วยบ่มเพาะนิสัยและสร้างความตระหนักเรื่องเงิน
- ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น – เรียกว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าควรตัดอะไรออกไปดี ลองจัดลำดับความสำคัญ แล้วเลือก 3 ลำดับสุดท้ายออกไป อาจสามารถลดรายจ่ายได้ถึง 20% เลยนะ
แม้จะยังไม่เห็นผลแบบทันทีทันใด แต่เชื่อเถอะว่าการปรับพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย จะดีต่อคุณในระยะยาวแน่นอน