“กัญชารักษาโรคได้” เรื่องจริง หรือแค่ข่าวลือ ?
ช่วงนี้กระแส “กัญชา” กับ “การแพทย์” กำลังมาแรงจนทุกคนต่างก็ให้ความสนใจ ซึ่งถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่รักสุขภาพก็คงไม่พลาดการอัพเดตเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอน แต่ก่อนที่จะพาไปเจาะลึกว่าตกลงแล้วกัญชามันมีประโยชน์ทางการแพทย์จริงหรือเปล่า เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่ากัญชามีแหล่งที่มาที่ไปจากไหนกันแน่!
ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของ “กัญชา” กับหลักฐานจากทั่วโลก
มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคนซัสในสหรัฐฯ บอกว่าแหล่งกำเนิดของกัญชาน่าจะเริ่มที่ประเทศมองโกเลียและตอนใต้ของเปอร์เซีย จากการที่มีนักโบราณคดีขุดเจอกัญชาในหลุมศพ อายุประมาณ 5,000 ปี (3,000 ปีก่อนคริสตกาล) และที่จีนเองก็มีการขุดหลุมศพเจอต้นกัญชาถึง 13 ต้นเช่นกัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ต่างก็ยกให้การค้นพบนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันได้ว่ากัญชาเข้าสู่จีนและกระจายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียอีกมากมาย ทั้งเกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และกระจายต่อไปประเทศฝั่งตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงอียิปต์ด้วยเหมือนกัน จากการพบหลักฐานชิ้นสำคัญว่า “ในร่างมัมมี่ก็มีสารกัญชาอยู่ด้วย” โดยหลังจากที่นักโบราณคดีที่อียิปต์ได้ตรวจร่างกายมัมมี่ อายุประมาณสามพันปี ก็ปรากฏว่าเจอสารกัญชาที่มีชื่อว่า ทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และเคลิบเคลิ้มนั่นเอง
กัญชา vs กัญชง ใช่อย่างเดียวกันมั๊ย
หลายคนคงต้องเคยสับสนกันมาบ้าง ความจริงก็คือกัญชง มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) ในขณะที่กัญชาใช้ชื่อ มาลีฮวนน่า (Marijuana) ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้ก็เป็นเหมือนพี่น้องที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน เป็นพืชล้มลุกที่น่าตาเหมือนกันมาก ถ้าดูแบบเผินๆ มักจะแยกไม่ออก แต่สิ่งที่สามารถสังเกตได้หลักๆ ก็คือ ต้นกัญชงจะสูงกว่าต้นกัญชา มีปล้องหรือข้อยาวกว่า ใบใหญ่กว่า เรียงตัวห่างกันมากกว่า และกัญชงนอกจากจะไม่มีกลิ่นหอมแล้วตัวยางก็จะไม่เหนียวเหมือนกัญชา
ทีมนักวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยบอกไว้ว่า ชาวเผ่าทางภาคเหนือเคยนำต้นกัญชงมาทำเป็นเส้นใยผ้า ในขณะที่กัญชามักจะถูกนำมาใช้ทำอาหาร เช่น แกงเขียวหวาน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ The Journal of Agricultural and Food Chemistry ได้อธิบายถึงสรรพคุณของสองสิ่งนี้ว่า ใบของกัญชงสามารถช่วยบำรุงเลือด เมื่อทานเข้าไปจะรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น นอนหลับสบาย และยังช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัวไมเกรน รวมถึงโรคหัวใจได้ด้วย ซึ่งสำหรับในบ้านเรานั้นกัญชงก็ถูกจัดเป็นพืชที่ถูกกฏหมายไปแล้วเรียบร้อย แต่ในส่วนของกัญชานั้นยังถือว่าเป็นพืชสารเสพติดที่อันตรายและผิดกฎหมายอยู่ถึงแม้ว่าจะมีผลวิจัยหลายแห่งบอกว่า มันสามารถนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ก็ตาม
และนี่คือส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่บอกว่ากัญชาอาจช่วยรักษาโรคได้!
กัญชา vs โรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัย
สถาบัน Salk ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลว่า สารทีเอชซีและสารประกอบอื่นๆ ในกัญชาสามารถใช้ลดปริมาณโปรตีนที่ชื่อ เบต้า-แอมลอยด์ในสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงวัยและโรคทางระบบประสาทต่างๆ ลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในวารสาร The Journal Of Alzheimer’s Disease ที่บอกว่าสารเตตราไฮโรเคนาร์บีนอยด์ หรือ ทีเอชซี ในกัญชาสามารถชะลอการผลิตเบต้า-แอมลอยด์ได้ โดยทั้งสองข้อมูลนี้ได้รับการสนับสนุนจากจอห์น ฮิคเกนลู ผู้ว่าการรัฐโคโรลาโดด้วย โดยเขากล่าวว่า กัญชาสามารถช่วยผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ในรัฐของเขาได้จริง
น้ำมันกัญชา vs มะเร็งสมอง
มีข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ (Complutense University) บอกว่าสารทีเอชซีและสารโมเลกุลที่ชื่อว่า คาร์นาบีนอยด์ในกัญชาช่วยยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกทุกชนิดได้ ในขณะที่สารทีเอชซีจะไปลดจำนวนเซลล์เนื้องอกที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ด้วย นอกจากนี้วารสาร The Journal of Pharmacology And Experimental Therapeutic ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า คาร์นาบีนอยด์มีคุณสมบัติหยุดการเติบโตของก้อนเนื้อ และเนื้องอก โดยไม่ทำลายระบบประสาทอื่นๆ และยังผลิตสารประกอบชนิดหนึ่งที่ต้านเซลล์เนื้องอกที่อาจเป็นมะเร็งในอนาคตได้ นายแพทย์ นโคลัส บลอนดิลล์ (Nicholas Blondin) จากสถาบันวิจัยและทดลองการรักษาโรคทางประสาทวิทยา เล่าว่า เขาได้ใช้น้ำมันกัญชากับผู้ป่วยมะเร็งสมอง เพราะมันช่วยทุเลาอาการที่แย่ลงให้ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้ปัจจุบันวิธีนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งสมองของเขาไปแล้ว และนี่ยังเป็นที่สนใจในวงการแพทย์ทั่วโลกอีกด้วย
กัญชา...อาจรักษาโรคกระดูกหักได้?
วารสารของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ บอกว่ากัญชาอาจเป็นตัวเร่งให้การบาดเจ็บของกระดูกหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะกระดูกที่หักตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขา หรือ แขน โดยทางทีมวิจัยได้ใช้กัญชากับหนูที่มีกระดูกขาหัก พบว่ากระดูกที่หักนั้น หายเร็วขึ้นกว่าปกติ และยังพบว่ากระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้นว่าเดิมด้วย แต่ถึงยังไงนี่ก็เป็นเพียงการค้นพบเท่านั้น ซึ่งคงต้องรอว่าจะมีการนำมาทดลองปรับใช้หรือทดลองกับมนุษย์บ้างหรือไม่ จึงจะหาข้อสรุปได้นั่นเอง
เป็นยังไงกันบ้าง? เราเชื่อว่ายาทุกชนิด ไม่ว่าจะยาสกัดจากพืชสมุนไพร หรือยาสกัดจากเคมีในทางการแพทย์แบบแคปซูล ก็ย่อมให้คุณและโทษกับร่างกายได้ทั้งนั้น รวมไปถึงเจ้าพืชเขียวที่ชื่อว่า "กัญชา" นี้ก็เช่นกัน ซึ่งตอนนี้ กรมการแพทย์โครงการผลิตสารสกัดกัญชาต้นแบบในประเทศไทยเขาก็กำลังเร่งวิจัยกันอยู่ สัญญาว่าเราจะรีบนำความคืบหน้ามาฝากกัน แล้วถ้าคุณมีอะไรอยากอัพเดทหรือคอมเม้นท์เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่ะก็ มาแชร์กันได้เล้ย!