ไขข้อสงสัยไวรัส COVID19 รูปแบบใหม่มาจากไหน...กลายพันธุ์ได้จริงหรือแค่การทดลอง?
ประมาณเดือนสิงหาคม มีประกาศจากทางสาธารณสุขของประเทศมาเลเซียว่าพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยชื่อสายพันธุ์ที่แตกย่อยออกมาใหม่นี้ก็คือ “D614G” ที่อาจสร้างความกังวลใจให้กับคนทั่วโลกหนักกว่าเก่า เพราะมีแนวโน้มว่าจะกระจายเชื้อได้ไวขึ้นถึง “10 เท่า”“D614G” ร้ายแรงและน่ากลัวจริงหรือเปล่า?
เรียกว่าเป็นเชื้อไวรัสที่อัพเกรดตัวเองได้เก่งจริงๆ สำหรับ COVID19 ล่าสุดขณะที่อยู่ระหว่างการแยกและเพาะเลี้ยงเชื้อทดสอบกลุ่มผู้ป่วย ทางทีมวิจัยการแพทย์ในประเทศมาเลเซีย (Malaysian Institute for Medical Research) ดันไปค้นพบเชื้อไวรัส COVID19 กลายพันธุ์แตกย่อยไปเป็นอีกสายพันธุ์นึงชื่อ “D614G” ซะงั้น!
ด๊อกเตอร์ นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียบอกว่า ไวรัสพันธุ์นี้ จริงๆ แล้วได้ถูกค้นพบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งดูทีท่าแล้ว วัคซีนที่ทางการได้วิจัยก่อนหน้าอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสู้กับเชื้อโควิด19 สายพันธุ์นี้ได้ นอกเหนือจากนี้ทาง ดร.นูร์ ยังย้ำเตือนประชาชนในมาเลเซียว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือคนที่อยู่ในชุมชนแออัด เพราะหากผู้ป่วยเป็น Super Spreader การกระจายเชื้อจะไวเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 10 เท่า
Source: Lizhou Zhang et al., Scripps Research
โควิด19 รูปแบบใหม่นี้เกิดจากการกลายพันธุ์?
ข้อมูลจากทางหน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ EIU (The Economist Intelligence Unit) ทำให้เราเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเจ้า D614 นี้มันอาจมีการกลายพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ว่าพอได้มีการทดลองค้นหาข้อมูลเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด Covid-19) และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสรูปแบบไหนกันแน่ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในคนมากที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็พบคำตอบว่าเป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด19 ที่เรียกว่า “D614G” หรือที่บางสื่ออาจใช้คำว่า “D614G MUTATION” นี่ล่ะที่เราต้องให้ความสำคัญ!
D614G นี้ย่อมาจากอะไร? ความรุนแรงนั้นอยู่ในระดับไหน?
เว็บไซต์ The Medium.com บอกว่า ที่ตั้งชื่อว่า D614G นั้นเป็นเพราะการกลายพันธุ์นี้คือการเปลี่ยนแปลงของกรด amino acid ในตำแหน่งที่ 614 โดยเปลี่ยนจากกรด Aspartic acid (ตัวย่อคือ D ) ไปเป็นกรด Glycine (ตัวย่อคือ G) ซึ่งจริงๆ แล้วบางคนอาจจะเรียกว่า G614 ไปเลย ทั้งนี้เรื่องที่มาของชื่อมันไมใช่ประเด็นหลักแต่ประเด็นคือ สรุปแล้วสายพันธุ์นี้มันน่ากลัวกว่าเชื้อเดิมจริงหรือเปล่า?
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร ์ คณะแพทยศาสตร ์จุฬาฯ บอกว่า ประเด็นหลักที่เป็นตัวการจริงๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มความรุนแรงของอาการแต่อย่างใด ขณะที่ข้อมูลของ Scripps Research ค้นพบว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้จะแพร่เชื้อเข้าสู่เซลล์ได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งก็เป็นคำตอบว่าทำไมถึงมีการระบาดหนักในอิตาลีและนิวยอร์กเมื่อต้นปี
และถ้าดูจากภาพข้างล่าง ก็ทำให้เราพอประเมินได้แล้วว่า ความจริงเชื้อไวรัสโควิด19 สายพันธุ์นี้มีอยู่ในประเทศยุโรปสักพักแล้ว ทำให้หายสงสัยว่าทำไมที่ยุโรปการระบาดถึงเป็นวงกว้างและว่องไวมาก
Source: CellPress
ต้องตระหนัก แต่อย่า ตระหนก พร้อมรับมือเมื่อมาถึง!
ต้องพูดกันตรงๆ ว่า สิ่งที่ทุกประเทศกำลังต่อสู้กับโรคระบาดนี้หลักๆ ก็คือยื้อให้มันมาถึงตัวช้าที่สุด ในระหว่างทางนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ทุกภาคส่วน ถ้าย้อนไปอ่านข้อมูลที่ทางเราได้อธิบายไว้ว่า “บางคนอาจไม่แสดงอาการ ไม่ป่วยแต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้” เพราะด้วยกับความแปลกใหม่พร้อมพัฒนาความซับซ้อนของตัวไวรัสเองก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองตามหลัก NEW NORMAL ไม่กลัวจนเกินไป ที่สำคัญอย่าลืมรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ