เพราะอะไร... Malta ครองใจนักท่องเที่ยวและกลุ่ม LGBT+
ในสังคมที่ไร้ความเท่าเทียม คงยากจะจินตนาการว่าความเสมอภาคเป็นอย่างไร... ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่ได้รับการโหวตว่าดีต่อนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT+ โดยได้คะแนนถึง 90 เต็ม 100 คงเปรียบเหมือนแดนสวรรค์ที่ทุกคนสามารถมีความสุขได้อย่างเท่าเทียม
กลุ่ม ILGA Europe ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศของยุโรป ได้จัดอันดับนี้ตั้งแต่ปี 2009
โดยปีนี้ "มอลตา" ได้รับคะแนนโหวตเป็นอันดับ 1 ครองแชมป์ถึง 4 ครั้ง แซงหน้าอีก 48 ชาติในยุโรป... ซึ่ง 5 อันดับแรกคือมอลตา (90%) เบลเยียม (73%) ลักซ์เซมเบิร์ก (70%) ฟินแลนด์ (69%) และเดนมาร์ก (68%) ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคืออาเซอร์ไบจาน ได้เพียงแค่ 3% เท่านั้น
ภาพจาก Photo by Magdalena Smolnicka on Unsplash
เรื่องที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาใช้เป็นเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็น 6 หมวดใหญ่ๆ คือ ความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ, ประเด็นเรื่องครอบครัว, คำพูดและอาชญากรรมจากความเหลียดชัง, การรับรองเพศสภาวะทางกฎหมาย, เสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงสิทธิที่จะได้แหล่งพักพิง (Right to asylum) จากรัฐผู้รับ แดเรียนน์ เฟลมิงตัน จาก ILGA-Europe บอกว่า เราต่างก็รู้ว่าอะไรจำเป็น นอกจากกฎหมายและนโยบายของรัฐแล้ว ความเป็นผู้นำทางการเมืองก็สำคัญ มันเป็นการสร้างข้อตกลงที่มีความหมายให้กับพลเมืองและชุมชน นั่นจะทำให้คุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
ขณะที่ ปีเตอร์ เวลลาร์ เจ้าหน้าที่องค์การท่องเที่ยวมอลตา บอกว่า ชาวมอลตามีชื่อเสียงด้านความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากเกินกว่าที่คุณจะจินตนาการ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเมื่อพวกเขาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ “เอกลักษณ์ของมอลตาคือการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ และความทันสมัย เมื่อบวกกับความเป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT+ ทำให้ประชาชนในประเทศสามารถสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งชาติอื่นในยุโรปน่าจะเอาเป็นแบบอย่างได้”
ปีเตอร์ บอกอีกว่า หากใครได้ไปเยือน จะพบว่าประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้ มีร้านอาหาร โรงแรม คลับ และบาร์ที่เป็นมิตรต่อ LGBT+ จำนวนมาก นั่นทำให้พวกเขามีความสุขได้เต็มที่
เช่น ปี 2016 มอลตาเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎห้ามการบำบัดคนรักเพศเดียวกัน (Gay-conversion therapy) และประกาศให้ในเอกสารราชการก็มีการใช้คำว่า “gender-neutral” หรือความเป็นกลางทางเพศ แทนที่จะมีแค่ “ชาย” และ “หญิง” โดยผู้ยื่นขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลนี้ในเอกสารราชการ ทำได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี
หรือปี 2017 กลุ่ม LGBT+ ก็สามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังสามารถรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้ไม่ต่างจากคู่ชาย-หญิงคนอื่นๆ และเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งประกาศว่า ในหนังสือเดินทางสามารถใช้คำว่า ความเป็นกลางทางเพศสภาพ (Gender – Neutral passport) แทนที่จะเป็นเพศหญิงหรือชายเท่านั้น
ทราบข่าวนี้แล้ว เราก็อยากจะจองตั๋วแล้วพุ่งไปมอลตา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่าแดนสวรรค์ของ LGBT+ เป็นยังไง
ภาพจาก Photo by Ferenc Horvath on Unsplash