รู้จักไมโครพลาสติก... และ 5 วิธีกู้โลก ที่เริ่มได้จากตัวคุณเอง
การสูญเสีย ‘น้องมาเรียม’ พะยูนน้อยกำพร้าแม่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. อาจทำให้หลายคนเสียน้ำตา แต่พอรู้ว่ามีเศษซากของถุงพลาสติกอุดตันลำไส้ของน้อง เราเชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกจุกในอก ร้องไห้ไม่ออก... เพราะเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้น ก็มาจากน้ำมือของเราๆ ท่านๆ นี่แหละ
ไม่นับรวมอีกหลายปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าโลกเรามาถึงขั้นวิกฤต ยังไม่ทันจะสิ้นปี 2019 ก็มีสถิติใหม่ๆ ที่ไม่น่าภูมิใจเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ การสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่ทุบสถิติ และที่เราไม่อยากเชื่อคือมีการพบพลาสติกขนาดจิ๋วในฝนที่ตกแถบเทือกเขาร็อกกี ของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหิมะที่ตกในแถบบาวาเรีย ทวีปยุโรป... มันเกิดขึ้นได้ยังไง?
นั่นเพราะมีอีกสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม... คือ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกขนาดจิ๋ว เล็กกว่า 5 มม. ซึ่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) บอกว่ามันปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำและมหาสมุทร และอาจมีส่วนสำคัญต่อการเกิดมลภาวะทางอากาศ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า Microplastic pollution จะลอยไปกับกระแสลม ปนเปื้อนทั้งในดิน น้ำ อากาศ แม้กระทั่งหิมะ
Photo by Jasmin Sessler on Unsplash
วันนี้เราเลยมาแนะนำวิธีลดการแพร่กระจายไมโครพลาสติกโดยเริ่มที่ตัวคุณเอง... ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อธรรมชาติ เพื่อตัวคุณเอง และเพื่อลูกหลานของคุณ
1. เลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก: ผลิตภัณธ์ที่ทำจากพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานมาก ซึ่งองค์กร Global Citizen บอกว่าไมโครพลาสติกก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้น วิธีง่ายๆ คือเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเม็ดบีดส์: เม็ดบีดส์ก็คือพลาสติกขนาดจิ๋วที่ถูกเติมเข้าไปในผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม อย่างยาสีฟันและครีมสครับผิว เมื่อคุณใช้มันก็จะไหลไปตามท่อน้ำทิ้งและอาจมีบางส่วนที่หลุดออกสู่ธรรมชาติ ปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ
3. ลดการกินเนื้อสัตว์และปลา: The Conversation องค์กรไม่แสวงหากำไรจากออสเตรเลียบอกว่าสัตว์น้ำและสัตว์บกบางชนิดอย่างไก่จะกินไมโครพลาสติกเข้าไป ซึ่งหมายความว่าไมโครพลาสติกได้อยู่ในห่วงโซ่อาหารของเราแล้ว
4. กรองน้ำประปา ก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง: consumerlab.com เผยว่าน้ำประปาในสหรัฐอาจมีไมโครพลาสติกมากถึง 94% ขณะที่ในยุโรปก็สูงถึง 72% ซึ่งการ “กรองน้ำ” ก่อนบริโภคจะช่วยลดการปนเปื้อนได้
5. เปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ: สื่ออย่าง The Guardian ได้รายงานไว้ตั้งแต่ปี 2016 แล้วว่าการซักแห้งเสื้อผ้าใยสังเคราะห์แต่ละครั้ง ทำให้มีเส้นใยไมโครพลาสติกมากกว่า 700,000 ชิ้นปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม... ทางที่ดีเปลี่ยนมาใช้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติเช่นผ้าฝ้าย ลินิน จะเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากกว่า
คงไม่ต้องบอกว่าวิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะใคร แต่มันยังไม่สายเกินไปที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อยืดอายุให้โลกใบนี้... เพราะธรรมชาติไม่ต้องการเรา เราต่างหากที่ต้องการธรรมชาติ