จับตาวัคซีน COVID-19 “ชนิดโปรตีนเบส” ที่อาจมาคว่ำบัลลังก์ mRNA
นาทีนี้คงไม่มีอะไรที่จะมีค่ามากไปกว่าวัคซีน COVID-19 โดยเฉพาะวัคซีน mRNA อย่าง Moderna และ Pfizer ที่เป็นที่ไขว่คว้าของทั่วโลก ด้วยประสิทธิภาพที่เรียกได้ว่าค่อนข้างมีแต้มต่อกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ พอตัวเลยทีเดียว แต่อุปสรรคสำคัญก็คือการเก็บรักษาวัคซีน 2 ชนิดนี้ ต้องเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำมากๆ ถึง -80 องศาเซลเซียส การขนส่งวัคซีนและการจัดเก็บให้คงคุณภาพจึงเป็นความท้าทายพอตัวโดยเฉพาะในประเทศเมืองร้อน ร้อน และร้อนมาก อย่างบ้านเรา
Credit: REUTERS/Dado Ruvic
สะเทือนความหวัง mRNA
แต่เมื่อกลางปีที่ผ่านที่เยอรมันได้มีการคิดค้นวัคซีน mRNA น้องใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “CureVac (เคียวร์แวค)” ซึ่งมาอุดช่องโหว่ในเรื่องการจัดเก็บ เพราะทีมวิจัยของ CureVac ค้นพบวิธีนำโมเลกุลของ RNA ไปไว้ในกรดไขมันเพื่อป้องกันการถูกทำลายของโมเลกุล จึงสามารถจัดเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ แต่ผลการทดลองในขั้นสุดท้ายกลับพบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ที่ 48% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ต่ำกว่า Sinovac ด้วยซ้ำไป ทำให้เกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว mRNA จะช่วยยังยั้งวิกฤติ การระบาดได้จริงหรือ?
แต่ความหวังก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะทั่วโลกยังคงมีความพยายามที่จะคิดค้นวัคซีนใหม่ ให้ทันกับการกลายพันธุ์ของไวรัสที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนและอันตราย อย่างล่าสุดก็มีสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า "แลมบ์ดา" (Lambda) หรือสายพันธุ์ C.37 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดหนักในภูมิภาคอเมริกาใต้ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ดาแล้วในอย่างน้อย 29 ประเทศทั่วโลก
วัคซีนชนิดโปรตีนเบส อาวุธใหม่ต่อสู้วิกฤต COVID-19
เทคโนโลยี “โปรตีนเบส” (Protein-nanoparticle Vaccine) เป็นการนำชิ้นส่วนหนาม หรือโปรตีนในไวรัสมาฉีดเข้าร่างกายโดยตรง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรค ผู้เชี่ยวชาญเปรียบว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ก็เหมือนอาหารสำเร็จรูป ซื้อแล้วรับประทานได้เลย เพราะเป็นโปรตีนหนามที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เหมือนวัคซีนเทคโนโลยีอื่น จึงมีความปลอดภัยสูงใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
ซึ่งบริษัทที่นำร่องเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ผลิตวัคซีนก็คือ บริษัท Novavax ในรัฐแมริแลนด์ ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของ "วัคซีนโนวาแวกซ์" นั่นเอง ซึ่งผลการทดลองก็ว๊าว! จนรุ่นพี่อย่าง Pfizer กับ Moderna ต้องสะเทือน โดยผลการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 พบว่าประสิทธิภาพ ป้องกันความรุนแรงของโรคโดยรวมสูงถึง 90.4 % ป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ 100 % ป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ 96.4% ป้องกันสายอัลฟา(อังกฤษ) ได้ 89.7 % ป้องกันสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ได้ 55 % ส่วนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมล่ะ!
Credit: REUTERS
การจัดเก็บของวัคซีนชนิดนี้ก็ง่ายกว่า ไม่ต้องติดลบหลายสิบองศา แค่เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาก็เพียงพอ และอีกสิ่งสำคัญที่คาดว่าน่าจะทำให้ทั่วโลกจับตามอง ก็คือ วัคซีนชนิดนี้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดโปรตีน เพื่อรองรับไวรัสการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะดื้อยาได้ในอนาคต
แต่บอกเลยว่าไม่ใช่แค่อเมริกาที่นำเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ ทางคิวบาก็พัฒนาวัคซีนแบบนี้เหมือนกัน และตัวที่ดูมีความหวังก็คือ Abdala ที่มีผลวิจัยขั้นที่ 3 ออกมาว่าถ้าฉีด 3 โดส สามารถสร้างภูมิได้ถึง 92% ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยหน้าเลยนะ
วัคซีนสัญชาติไทย ที่ใช้เทคโนโลยีเทียบเคียง Novavax
งานนี้นักวิจัยไทยก็สู้สุดใจ! นอกเหนือจาก ChulaCov19 วัคซีนชนิด mRNA ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ล่าสุดนักวิจัยจากจุฬาฯ ได้คิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ภายใต้ชื่อ "วัคซีนใบยา" ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด Subunit vaccine หรือการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสแล้วนำเอาหนามของไวรัสมาทำเป็นวัคซีน เช่นเดียวกับ Novavax นั่นเอง และเค้าเตรียมเปิดรับอาสาสมัครเพื่อฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ ในกลุ่มอายุ 18-60 ปี ก่อนที่จะทำการทดสอบในกลุ่มอายุ 60-75 ปีต่อไป งานนี้บอกเลยมีลุ้น! หากวัคซีนชนิดนี้ช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของเราต่อกรกับเจ้าโควิดนี้ได้จริง การสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ในไทยก็คงจะเข้าใกล้ความจริงขึ้นไปอีกเสต็ป แล้วอีกไม่นานพวกเราก็คงจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างที่เคยเป็น… เสียที!