จริงมั้ย? เราให้ความสำคัญกับ “สิทธิสัตว์” มากกว่าความเท่าเทียมทางเพศ

“สิทธิ” และ “ความเท่าเทียม” คำสั้นๆ แต่เข้าใจยาก

ถ้าต้องอธิบายให้เห็นภาพ สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารคงจะพอรู้ว่าหลังจากที่บ้านเรามีการบังคับใช้ “พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์” หรือพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ความเป็นอยู่ของน้องหมาน้องแมวก็ดูเหมือนจะมีสภาพดีขึ้น และเมื่อมีข่าวการทำร้ายทารุณสัตว์ ก็จะเป็นประเด็นสังคมใหญ่โตที่ทุกคนให้ความสนใจ

ซึ่งพอมองย้อนไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเน้นไปที่ความเสมอภาคทางเพศ แม้จะมีข่าวความคืบหน้าเรื่องร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ... หรือชื่อเล่นว่า "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า สิทธิของ “คู่ชีวิต” เพศเดียวกัน ก็ยังไม่เท่าสิทธิของ “คู่สมรส” ชายหญิงอยู่ดี

ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้น คือมีการสำรวจพบว่า คนในสังคมให้ความสำคัญกับ “สิทธิสัตว์” มากกว่า “สิทธิ LGBT” !!!


Photo by Jiroe on Unsplash
การสำรวจนี้เกิดขึ้นในอังกฤษ โดยกลุ่ม Pride’s Community Interest Company ได้ให้กลุ่มตัวอย่างเลือก 3 ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในอนาคต
ผลพบว่า กลุ่มชายหญิงที่เพศสภาพตรงเพศกำเนิดเพียง 3% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับประเด็น “ความใจกว้างต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศหลากหลาย” ว่าสำคัญที่สุด  7% เลือกมองว่าประเด็น “สิทธิสัตว์” สำคัญที่สุด และมีเพียง 2% เท่านั้นที่เลือกประเด็น “ความเท่าเทียมทางเพศ” 

ซึ่งสวนทางกับกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในกลุ่ม LGBT ที่ให้ความสำคัญกับประเด็น “ความเสมอภาคในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ” ถึง 44% และ 22% เลือกประเด็น “ความเท่าเทียมทางเพศ” 

ในรายงานที่ตีพิมพ์ใน Pride in London ยังเปิดเผยว่า 84% ของกลุ่ม LGBT ต่างรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตัวเองได้ถ้าเทียบกับกลุ่มเพศสภาพตรงเพศกำเนิด ซึ่งมีกลุ่มเพศสภาพตรงเพศกำเนิดเห็นด้วยกับความคิดนี้แค่ 40% เท่านั้น ทั้งนี้รายงานฉบับเดียวกันยังระบุว่ายังมี LGBT หลายคนที่ไม่เปิดเผยตัว

ซาดิก คาน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เผยว่า ในเรื่องความเท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ถือว่าเรามาไกลมาก แต่เราก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะชาวลอนดอนหลายคนยังเจอกับอคติและการกีดกันเพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง 

“ลอนดอนเป็นบ้านเกิดของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศสามารถใช้ชีวิตอย่างที่พวกเขาต้องการและภาคภูมิใจได้”

ขณะที่อลิสัน แคมป์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Pride in London เองก็บอกว่า การสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่า แม้หลายคนจะคิดว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและความเท่าเทียมแล้ว แต่จริงๆ แล้วยังไม่ใช่... เราตั้งใจจะต่อสู้กับอคติทุกรูปแบบที่เจอ เพื่อเป็นปากเสียงให้กับกลุ่มที่ถูกลดความสำคัญ ถูกกีดกัน และไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต

จากการสำรวจที่เราหยิบมาเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ คงพอสะท้อนความจริงในสังคมได้ว่าแม้แต่ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ในเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศนั้นดูจะยังไม่ได้ก้าวไปไหนไกล 






 
-->