อย่าทำร้ายใจลูก…ด้วยคำว่า ‘พี่ต้องเสียสละให้น้อง’

‘เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง’ ลูกคนโตหลายๆ คนมักจะถูกปลูกฝังด้วยคำสอนนี้ตั้งแต่วันที่น้องเกิด หรือดีไม่ดีตั้งแต่วันที่รู้ว่าจะมีน้องเลยด้วยซ้ำ ซึ่งบางคนอาจจะรับมือกับความคาดหวังนี้ด้วยความเคยชิน แต่บางคนคำพูดนี้อาจกำลังสร้างบาดแผลให้กับใจเขาโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว


 
ผิดมั้ย? ถ้าลูกไม่อยากแบ่งของให้น้อง
ผิดมั้ย? ถ้าลูกกลายเป็นคนหวงของ

สอนให้ลูก ‘เสียสละ’ ไม่ถูกเวลา อาจสร้างความทุกข์มากกว่าความรัก
เราเจอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่หมอโอ๋ - พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้านและอาจารย์แพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่นภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยพูดไว้ว่า ถ้าพูดกันถึงหลักจิตวิทยาแล้ว คนที่อายุมากกว่า ที่ถูกสังคมกำหนดถึงความเป็น ‘พี่’ มักจะถูกแบกด้วยความคาดหวังว่าต้องเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ ต้องดูแลคนอื่น ต้องเสียสละ ในขณะที่ ‘น้อง’ มักจะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มีความดื้อรั้น และอาจถึงขั้นเอาแต่ใจ ยิ่งถ้าถูกสปอยล์และให้ท้ายจากคนเป็นพ่อแม่ ดังนั้นนอกจากการยัดเยียดให้คนพี่ต้องเสียสละแล้ว สิ่งนั้นอาจกำลังสร้างบาดแผลทางใจ และกลายเป็นสร้างปมให้พี่ไม่ชอบน้องไปเลยก็ได้

‘ความเสียสละ’ เป็นคนละเรื่องกับการ ‘แบ่งปัน’
หลักง่ายๆ คือเมื่อลูกได้รับมากพอ เขาจะกลายเป็นคนที่พร้อมที่จะให้โดยอัติโนมัติ และเริ่มแบ่งปัน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนต่างก็มีของรักของหวงของตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และของของเขา ก็คือของของเขา เขามีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสิ่งๆ นั้น เพราะฉะนั้นอย่าบังคับให้เขาต้องเสียสละของรักของตัวเองให้ใคร โดยเฉพาะถ้าเขายังไม่พร้อม เพราะนอกจากจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่แฟร์แล้ว เขาอาจจะกลายเป็นเกลียดการแบ่งปันไปเลยก็ได้ เพราะนั่นเหมือนกับเขากำลังโดนพรากของรักไปโดยไม่เต็มใจ 

พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร? ให้ลูกแบ่งปันด้วยความเต็มใจ
หมอพลอย เจ้าของเพจอัจฉริยะสร้างได้ ได้ให้คำแนะนำในการสอนลูกไว้ว่า วิธีดีลกับลูกแต่ละช่วงวัยให้รู้จักการแบ่งปันอาจแบ่งตามช่วงอายุของเด็ก ถ้าลูกอยู่ในช่วง …

0-3 ขวบ > ช่วงอายุนี้ถือว่ายังเป็นวัยเบบี๋ อาจจะยังไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องของการแบ่งปันเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นเทคนิคง่ายๆ คือให้พ่อแม่ชวนคุยเรื่องนี้บ่อยๆ และทำตัวเป็นแบบอย่างให้เขาเห็น เพื่อให้เขาซึมซับไปเรื่อยๆ เและรับรู้ว่าการแบ่งปันนั้นคือสิ่งที่ดี คือการที่เราส่งต่อความสุขให้คนอีกคน แต่ก่อนที่เราจะสอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เราต้องเริ่มจากการสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเองก่อน รวมถึงเปิดโอกาสให้เขาแสดงความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะสุข เศร้า ผิดหวัง และอย่าบังคับให้ลูกแบ่งปันถ้าเขายังไม่พร้อม

3-5 ขวบ > ในวัยนี้เริ่มเป็นวัยที่เข้าโรงเรียนแล้ว เริ่มมีเพื่อน เล่นกับเพื่อน เริ่มเรียนรู้การแบ่งปันของเล่นกับเพื่อน ซึ่งวัยนี้จะเป็นวัยที่เริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มจากการสอนให้ลูกเข้าใจว่าการแบ่งปัน คือการผลัดกันเล่น ของเล่นนั้นไม่ได้หายไป หรือถ้าในบ้านที่มีพี่น้อง คุณพ่อคุณแม่อาจจะระบุได้ว่าของชิ้นไหนเป็นของส่วนตัว ชิ้นไหนเป็นของส่วนรวม และตั้งกติกาให้มีความแฟร์กับลูกๆ ทุกคน ไม่ใช่ว่าพี่ต้องเสียสละให้น้อง และเมื่อของชิ้นไหนเป็นของส่วนรวม นั่นหมายถึงการแบ่งกันเล่น สอนให้เด็กๆ รู้จักการรอคอย ในขณะเดียวกัน ถ้าของชิ้นไหนที่เป็นของส่วนตัว นั่นก็แปลว่าเขามีสิทธิ์ที่จะแบ่งหรือไม่แบ่งก็ได้เช่นกัน บางครั้งอาจจะมีเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง ตราบใดที่ไม่ได้มีการลงไม้ลงมือ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองดูเชิงสถานการณ์ก่อน เพื่อดูว่าพวกลูกๆ รับมืออย่างไร และเมื่อเขาเรียนรูัที่จะแบ่งปันซึ่งกันและกัน ก็อย่าลืมที่จะเอ่ยปากชม 

ส่วนถ้าเป็นกรณีเด็กที่โตกว่า 5 ขวบ เราสามารถพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผล อาจจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงอยากให้เขาแบ่งปัน และการแบ่งปันสามารถสร้างความสุขให้กับคนรับได้อย่างไร 

บ้านไหนมีเทคนิคในการสอนให้ลูกแบ่งปันกันที่ว่าเวิร์ค อย่าลืมมาแชร์กันนะ :)

 
-->