รับมืออย่างไร….เมื่อพี่น้องรักกันแบบ กาสะลอง-ซ้องปีบ

เชื่อว่าหลายๆ บ้านคงต้องมีโมเมนต์นี้ รักกันแบบกาสะลอง ซ้องปีบมันก็ต้องมีหยุมหัว มันจะต้องมีเรื่องให้ได้ตีกัน ทะเลาะกัน แถมเรื่องราวมันก็ช่างไร้สาระซะด้วยสิ แต่เดี๋ยวก่อนทุกคน เพราะมีนักจิตวิทยา Karen Young ได้กล่าวว่าการทะเลาะกันของพี่น้องช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ช่วยให้มีความฉลาดในการเข้าสังคมมากขึ้น ได้เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจ การควบคุมอารมณ์ตนเอง และการมีน้ำใจต่อกันอีกด้วย เอ้า! กลายเป็นดีซะอย่างงั้น ดังนั้นเราลองมาดูว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้กรรมการในบ้านไม่ต้องหัวจะปวดกันไปมากกว่านี้



#1 รับฟังปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทั้งพี่และน้องมีต้นเรื่องของปัญหาที่ทะเลาะกัน ดังนั้นสิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำ คือการรับฟังเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย ข้อดีของการรับฟังจะทำให้ทั้งคู่ใจเย็นลง และเราต้องให้เขาทั้ง 2 คนรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันด้วย พ่อแม่ไม่ควรตัดสินว่าใครถูกหรือผิด แต่สามารถให้คำแนะนำหลังจากปัญหาทุกอย่างคลี่คลายลงแล้วก็ได้ เช่น การที่เราเป็นคนผู้ฟังที่ดีจะทำให้เราเป็นคนใจเย็น เป็นคนมีเหตุมีผลและไม่ทำอะไรโดยไม่มีเหตุผลกับคนอื่น ดังนั้นคนที่เป็นกรรมการห้ามศึกแห่งสายเลือดในครั้งนี้ จะต้องเป็นกลางและทำให้ทุกอย่างมีทางออกอย่างเหมาะสมและยุติธรรม

#2 จัดการกับปัญหาในเชิงบวก
เมื่อเรารับฟังถึงปัญหาแล้ว เราก็จะมีวิธีการแก้ปัญหา แต่ทุกการแก้ปัญหาต้องเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยิ่งทำให้เรื่องนี้ถูกคลี่คลายและไม่กลับมาทะเลาะกันอีก แสดงว่าเราแก้ปัญหาได้ดี อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาอาจจะต้องเป็นไปในทิศทางบวกมากกว่าลบ เพราะว่าอาจเกิดความลำเอียง และหลายๆ บ้านต้องมีคนคิดว่าทำไมพ่อแม่เข้าข้างพี่ หรือเข้าข้างน้อง หรือตัดสินให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนถูก อีกคนก็จะเกิดอาการน้อยใจตามมาอีก สำหรับข้อดีสำหรับการแก้ปัญหาในเชิงบวก คือ เขาทั้งสองคนจะเป็นคนมีเหตุผลและมีทัศนคติที่ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการอยู่ร่วมกันในสังคม การใช้ชีวิตประจำวันกลุ่มเพื่อน การเรียน และการทำงานในอนาคตอีกด้วย



#3 การเป็นคนแพ้ ไม่ได้แปลว่าผิดเสมอไป
การที่เราชนะก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูก ในขณะเดียวกันคนที่พ่ายแพ้ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นคนผิด บางครั้งพี่น้องอาจจะมีเรื่องของ ‘การเสียสละ’ เข้ามาและไม่ได้หมายความว่าคนเป็นพี่จะต้องเสียสละให้คนน้องเสมอไป สิ่งเหล่านี้จะสอนให้เขารู้จักประมาณตน ไม่มีความคิดแต่เพียงแค่จะเอาชนะหรือคิดว่า สิ่งที่ตัวเองคิดนั้นถูกต้องที่สุด เปรียบเทียบเหมือนคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่มีใครถูกนอกจากฉัน ซึ่งพ่อแม่ก็สามารถสอดแทรกบทเรียนอันล่ำค่านี้ให้กับพวกเขาได้จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ
-->