ซื้อของเล่นให้ลูกเยอะไป จนลูกไม่เห็นค่า ทำไงดี?
อันนั้นก็น่ามี อันนี้ก็น่าโดน ก็ของเล่นสมัยนี้นี่มันช่างยั่วตายั่วใจ พาลทำให้หลายๆ ทีแม่ก็ CF มาเพราะความอยากได้ของแม่เองนี่แหละ ย้อนสานฝันวัยเด็กของแม่ด้วยการเล่นกับลูกไปในตัว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือตอนที่ของเล่นรกเต็มบ้าน ตอนซื้อทยอยซื้อ แต่ตอนลูกรื้อ… เห็นแล้วเหงื่อตกเลยทีเดียว นอกจากจะเสียแรงเก็บแล้ว การซื้อของเล่นให้ลูกมากไป แม่ๆ รู้ไหมว่าจะทำให้ลูกไม่รู้จักให้ความสนใจ หรือมีสมาธิในการจดจ่อกับของชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นเวลานานๆ ได้
มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโทเลโดในโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษากับเด็กๆ อายุ 18 ถึง 30 เดือน โดยให้เด็กๆ เข้าไปเล่นของเล่นในห้องสังเกตการณ์ ซึ่งห้องหนึ่งมีของเล่นเพียง 4 ชิ้น กับอีกห้องหนึ่งที่มีของเล่น 16 ชิ้น พบว่า ขณะที่เด็กๆ เข้าไปในห้องที่มีของเล่นเพียง 4 ชิ้น เด็กๆ จะใช้เวลากับของเล่นแต่ละชิ้นได้นานเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับการเล่นของเล่น 16 ชิ้น และยังมีความพยายามที่จะหาวิธีการเล่นของแต่ละชิ้นที่หลากหลายกว่าอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือจำนวนของเล่นที่น้อยกว่าช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการสำรวจมากขึ้น และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจได้มากกว่านั่นเอง
มีของเล่นมากไป… ยิ่งมากความ
ปัญหาอันดับแรกเลย “รกบ้าน” หน้ามืดตอนซื้อ ก็เลยต้องมาหน้ามืดตอนเก็บอีก สัญชาตญาณแม่อย่างพวกเราจะอดทนได้นานเท่าไหร่ กับการเห็นของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเต็มพื้นบ้านไปหมด พยายามทำความเข้าใจว่ามันเป็นการเรียนรู้ แต่บางทีก็ยากเกินจะต้านทาน อดไม่ได้ต้องไล่ตามเก็บ เก็บตรงนี้ ลูกก็ไปรื้อตรงนั้นใหม่ แม่หัวจะปวด เส้นเลือดที่ขมับนี่เต้นตุบๆ พอแม่เครียด บรรยากาศในบ้านก็พาลเครียดตามไปอีก
และอีกปัญหาก็คือ “ไร้ค่า” ของเล่นแต่ละชิ้นก็ไม่ใช่ถูกๆ แต่เพราะความได้มาง่ายไป วันเกิดได้แล้วหนึ่ง วันแม่อยากจะซื้ออีกหนึ่ง วันญาติอยากจะเปย์ก็ได้อีก แล้วเจ้าแสบก็ตื่นเต้นเสมอแหละตอนได้มา แต่สุดท้ายก็ไร้ค่าถูกเก็บรวมๆ กันไว้ในกล่อง ที่ถ้าไม่รื้อออกมาก็อาจจะลืมไปแล้วว่าเคยมี ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่าสุดท้ายแล้วลูกก็จะกลับไปดื่มด่ำกับของชิ้นโปรดอยู่ดี ฉะนั้นถ้าบ้านไหนกำลังประสบปัญหาแบบนี้ หัวข้อต่อไปเป็นสิ่งที่ห้ามเลื่อนผ่านเด็ดขาด!
ไม่อยากให้ของเล่นไร้ค่า นี่คือทางออก
#เลือกของเล่นที่สามารถต่อยอดได้
เลือกของเล่น "ปลายเปิด" อย่าง เลโก้ บล็อกตัวต่อ โมเดล ตุ๊กตา รถไฟ หรือรถยนต์ขนาดเล็ก ที่จะเปิดโอกาสให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์และใช้จินตนาการได้อย่างอิสระ และของเล่นเหล่านี้ยังนำไปต่อยอด หรือดัดแปลงเล่นร่วมกันของเล่นชนิดอื่นๆ ได้ ทำให้ของเล่นชิ้นเดิมๆ ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป หรือในทางกลับกันอาจจะดัดแปลงของในบ้านมาเป็นของเล่นก็เป็นไอเดียที่เข้าท่าอยู่เหมือนกันนะ กระดุมเอย ถ้วย ชาม ช้อน ส้อม ไม้หนีบ เชือก ถั่วต่างๆ ข้าวสาร เล่นได้ไม่รู้เบื่อเลยแหละ
#ให้ในวาระโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น
งานนี้ไม่ใช่แค่พ่อและแม่เท่านั้น ญาติๆ สายเปย์ก็ต้องเข้าใจตรงกัน อาจจะรวมกันซื้อเป็นของชิ้นใหญ่ชิ้นเดียว หรือสลับกันให้คนและเทศกาลก็เป็นความคิดที่ดีไม่น้อย การแสดงความรัก หรือให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่จำเป็นต้องแสดงออกผ่านวัตถุสิ่งของเท่านั้น แค่ให้เวลา พาทำกิจกรรมร่วมกัน กับจะสามารถสร้างสายสัมพันธ์ และความทรงจำที่น่าประทับใจได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ
#สอนให้รู้จักอดทนรอ
ในวัยที่เริ่มโตหน่อย มีความเข้าใจอะไรมากขึ้น ก็ควรสอนให้ลูกรู้จักอดทน ด้วยการเก็บหอมรอมริบจนครบจำนวนจึงค่อยพาไปซื้อ หรือตั้งเป้าในสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ที่ไม่ง่ายจนเกินวัย และเมื่อทำสำเร็จก็ให้สิ่งที่ปรารถนาเป็นรางวัล ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าของของชิ้นนั้น ยังสอนให้ลูกรู้จักกับความภาคภูมิใจ เกิด Self Esteem ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตในอนาคตอีกด้วย
งานนี้บอกเลยว่าต้องสมานสามัคคี หยุด CF ถี่ๆ มาเป็นการพยายามประยุกต์นำของเล่นที่มีมาเล่นให้แตกต่างไปกว่าเดิม
เพราะที่สุดแล้วเชื่อเถอะว่าของเล่นชิ้นไหนก็ไม่สนุก เท่าชิ้นที่ลูกได้เล่นกับพ่อแม่อีกแล้ว
เพราะที่สุดแล้วเชื่อเถอะว่าของเล่นชิ้นไหนก็ไม่สนุก เท่าชิ้นที่ลูกได้เล่นกับพ่อแม่อีกแล้ว