พ่อแม่ต้องใส่ใจ เชื้อไวรัส RSV ตัวร้ายช่วงหน้าฝน

ช่วงหน้าฝนถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่น่ากังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ เพราะเป็นเวลาระบาดของเจ้าเชื้อไวรัสตัวร้ายที่ชื่อว่า RSV งานนี้จะรับมือยังไงดี? มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน กับพญ.ปิยะฉัตร วงศ์บุญยกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินหายใจในเด็ก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช



ทำความรู้จัก ‘ ไวรัส RSV ตัวร้าย’
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้บอกเอาไว้ว่า

ไวรัส RSV นี้มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า 60% 
ในเด็ก ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเลยทีเดียว

ซึ่งคุณหมอได้อธิบายเกี่ยวกับเชื้อไวรัส RSV ให้เราได้เข้าใจง่ายๆ ว่า “RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus” คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในเด็กเพียงเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่ และทุกคน แต่ที่เราพบได้บ่อยๆ ในเด็ก เนื่องจากเด็กมีอายุค่อนข้างน้อย และมีระบบภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะสามารถติดเชื้อหวัดและเชื้อไวรัสได้ค่อนข้างง่าย โดยลักษณะอาการของไวรัส RSV จะมีหวัด ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยในลักษณะอาการเหล่านี้ก็จะมีเด็กประมาณ 20-30% ที่จะมีอาการหนัก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดอักเสบ 

วิธีสังเกตอาการ แบบไหน เข้าข่าย RSV 
มีหลายๆ เคสที่คุณหมอเล่าว่าเคยเจอที่มีอาการหนักจนต้องเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต้องได้รับการพ่นยา ให้ออกซิเจน หรือหนักที่สุดคือการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งก็เป็นเคสที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

“ในช่วงแรกๆ ของอาการอาจจะมีความคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา ถ้าเป็นเด็กทารกโดยส่วนมากจะกินนมน้อยลง ดูซึมๆ มีน้ำมูกนิดหน่อย แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็จะมีภาวะหยุดหายใจได้ ถ้าเป็นที่โตขึ้นมาอีกนิดก็จะมีอาการน้ำมูกไหล แต่ที่เด่นชัด คืออาการไอที่มีความรุนแรงและมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างกับช่วงที่เป็นแรกๆ จะไอน้อยและมีความถี่ที่น้อยกว่ามากๆ”

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถบอกได้ว่าลูกของเราติดเชื้อไวรัส RSV หรือเปล่า ก็คือการ Swab โดยการเทสจะมีลักษณะคล้ายๆ กับการตรวจโควิด-19 ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าเราติดเชื้อ RSV หรือไม่ อย่างไรก็ตามคุณหมออยากให้พ่อแม่ได้เฝ้าสังเกตอาการและความผิดปกติที่คุณหมอได้กล่าวไป ก็จะช่วยป้องกันความรุนแรงของเชื้อไวรัส RSV ได้เช่นกัน”

เมื่อไหร่ที่คุณพ่อ คุณแม่ สังเกตลูกน้อยแล้วรู้สึกว่าเริ่มมีอาการที่รุนแรงหรือไม่มั่นใจว่าใช่ RSV หรือไม่ การพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ทำไมหน้าฝน? ถึงเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายของไวรัส RSV
อย่างที่บอกว่าช่วงหน้าฝนคือถือเป็นช่วงพีคของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งคุณหมอได้ให้ข้อมูลกับเราว่า “การระบาดของเชื้อไวรัส RSV ในแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน อย่างของประเทศไทยช่วงหน้าฝนเป็นช่วงระบาดหนัก โดยจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ของทุกปี ส่วนต่างประเทศก็จะเป็นช่วงหน้าหนาว ซึ่งจริงๆ เชื้อไวรัส RSV ไม่ได้ระบาดเพียงแค่หน้าฝนเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงฤดูอื่นๆ ก็สามารถระบาดได้เช่นกัน และไม่ได้มีเพียงแค่ RSV เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คุณหมอก็พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่นกัน เพียงแต่ว่าไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ นั่นเอง”



ต้องระวัง! ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้!
ไม่ใช่เพียงแค่เด็กเล็กเพียงอย่างเดียวที่จะติดเชื้อไวรัส RSV อย่างที่คุณหมอได้บอกไปว่า “คุณพ่อ คุณแม่ที่เลี้ยงดูลูกๆ ก็สามารถติดเชื้อไวรัสได้เหมือนกัน แต่ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง เพราะผู้ใหญ่ส่วนมากจะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี ซึ่งลักษณะอาการก็มีความคล้ายกันกับเด็กเลย คือ มีน้ำมูก ไอ จาม รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย แต่ก็มีอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงไม่แพ้กับเด็กๆ เลย คือ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากและมีโรคประจำตัว ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เราต้องใส่ใจให้มากขึ้นนั่นเอง

เมื่อเป็นแล้ว รักษาอย่างไร?
สำหรับการรักษานั้นคุณหมอเล่าว่าก็จะมีความคล้ายๆ กัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการรักษาประคับประคองอาการ “โดยในปัจจุบันมียาอยู่ 3-4 ชนิดที่ทำการวิจัยอยู่ ยังไม่มีการใช้จริง แต่จะมียาที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสำหรับกลุ่มเด็กเล็กที่มีอาการหนัก คือ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่จะฉีดให้กับเด็ก เพื่อป้องกันก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูที่เชื้อไวรัส RSV ระบาดหนัก อย่างไรก็ตามสำหรับวัคซีน ในปัจจุบันก็ไม่มีวัคซีนรักษากับเด็กโดยตรง แต่จะมีวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ที่เหมาะกับกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่จะทำได้คือ การสอนให้เด็กๆ ได้ดูแลตัวเอง เช่น การล้างมือให้สะอาด ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่อยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนๆ ที่ป่วย เพราะไวรัส RSV จะติดผ่านการสัมผัส ซึ่งเด็กๆ ก็จะไม่ระมัดระวัง อาจจะได้รับเชื้อเข้าสู่ได้ร่างกายค่อนข้างง่าย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งที่มีคนเยอะ หรือสถานที่ที่มีความแออัดสูง มาตรการเหล่านี้ก็พอจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดเชื้อไวรัส RSV ได้เช่นกัน”



ป้องกันอยางไร? ให้ลูกห่างไกล เชื้อไวรัส RSV 
สำหรับแนวทางการป้องกันเชื้อไวรัส RSV คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากขึ้นก็เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ คุณหมอได้ให้แนวทางการดูแลลูกน้อยของเรา เมื่อลูกของเราติดเชื้อไวรัส RSV ว่า “ถ้าหากคุณพ่อ คุณแม่ทราบว่า ลูกเราติดเชื้อไวรัส RSV ก็อาจจะสังเกตอาการลูกของเราก่อนว่ามีอาการเป็นอย่างไร ถ้ามีอาการไม่หนักมากก็สามารถรักษาตามอาการ และสามารถรักษาตัวที่บ้านได้เลย โดยคุณหมอก็จะนัดติดตามอาการกับคุณพ่อ คุณแม่อีกครั้งที่โรงพยาบาล ว่าลูกๆ มีอาการหนักขึ้นหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าลูกๆ มีอาการไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มว่าอาการจะรุนแรง คุณหมอแนะนำให้รีบมาพบแพทย์ ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด และประเมินถึงความเหมาะสมว่าควรจะรักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งถ้าหากต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็อาจจะต้องมีการให้น้ำเกลือ มียาพ่น และอาจจะต้องดูดเสมหะ ทั้งนี้การรักษาจะเป็นในรูปแบบของการรักษาตามอาการ ถ้ามีแนวโน้มอาการที่ดีขึ้น ก็สามารถกลับบ้านได้ ในส่วนของเคสที่มีอาการหนักและไม่สามารถหายใจได้เอง ก็จะมีมาตรการการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน ในเคสที่อาการหนักมากๆ ก็มีความจำเป็นต้องเข้า ICU และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด”

ทางเลือกใหม่! ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ตัวช่วยการป้องกันไวรัส RSV ในเด็กทารก
ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง แอสตร้าเซนเนก้า กับ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ที่ได้เห็นถึงความสำคัญของการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็ก คุณหมอได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเราว่า “สำหรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Palivizumab (พาลิวิซูแมบ) ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับทารกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อไวรัส RSV รุนแรง ซึ่งได้แก่ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 29 สัปดาห์ หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภาวะโรคปอด และโรคหัวใจเรื้อรัง รวมทั้งเด็กที่มีภูมิต้านทานร่างกายไม่แข็งแรง ถ้าหากติดเชื้อไวรัส RSV อาจจะมีอาการที่รุนแรง สำหรับการฉีดคือ ฉีดเดือนละครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งจะเป็นการฉีดก่อนจะถึงช่วง RSV ระบาดหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัส RSV รวมทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของตัวโรคได้อีกด้วย สำหรับเด็กๆ กลุ่มอื่นๆ คุณหมอยังไม่แนะนำให้ฉีด ทั้งนี้ในอนาคตอาจจะมีตัวยาชนิดอื่นๆ ที่จะนำเข้ามาใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย”

สุดท้ายนี้ เราอยากให้คุณพ่อ คุณแม่ ได้ให้ความสำคัญ และดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนในบ้าน
-->