แล้วแกจะแรงเพื่อ! ความรุนแรงในครอบครัว อย่ามัวนิ่งเฉย
เพราะไม่ได้เกิดมาเป็นนักบู๊ ถึงจะได้ชอบอยู่กับความรุนแรง หรือต่อให้มีเฉินหลง แจ๊กกี้ชาน เป็นไอดอลก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องยอมทนกับความรุนแรง (โดยเฉพาะในบ้าน) ซึ่งมีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่าทุกชั่วโมงมีเด็ก - ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในปี 2564 พบว่ามี ผู้หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ ไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน โดยมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 ราย ซึ่งถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงติด 1 ใน 10 ของโลกเลยทีเดียว รู้แบบนี้แล้วยังอยู่เฉยได้ (อีก) เหรอ?
แบบไหนที่เรียกว่า (ความรุน) แรง
ความรุนแรง คือการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ การกระทำทางเพศ การถูกทอดทิ้ง ตลอดจนความรุนแรงในรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงระหว่างคู่สมรส (Intimate Partner Violence and Abuse) ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) ตลอดจนความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ (Elder Abuser) โดยความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีลักษณะ ดังนี้
แบบไหนที่เรียกว่า (ความรุน) แรง
ความรุนแรง คือการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ การกระทำทางเพศ การถูกทอดทิ้ง ตลอดจนความรุนแรงในรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงระหว่างคู่สมรส (Intimate Partner Violence and Abuse) ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) ตลอดจนความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ (Elder Abuser) โดยความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีลักษณะ ดังนี้
- ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายโดยเจตนาที่จะใช้กำลังบังคับ ข่มขู่ เช่น ทุบ ตี เตะ ต่อย ทำให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย รวมไปถึงการทำร้ายสัตว์เลี้ยงด้วย
- ความรุนแรงที่ออกมาทางคำพูด พูดจาส่อเสียด พูดโดยใช้อารมณ์และคำหยาบ ในการด่า ทำร้ายจิตใจ เหยียดเพศ เหยียดศักดิ์ศรี และทำให้รู้สึกอาย
- ความรุนแรงทางเพศ จะเห็นได้บ่อยตามข่าวที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รักหรือระหว่างบุตรกับบุพการี เช่น พ่อบังคับขืนใจลูกสาว สามีตบตีบังคับและทำร้ายภรรยาระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือการกระทำทางเพศที่เป็นการบังคับขืนใจ เป็นต้น
- ความรุนแรงทางอารมณ์ โดยผู้กระทำจะใช้การข่มขู่ ใช้อารมณ์ในการควบคุมให้อีกฝ่ายทำตาม เช่น การกล่าวหาคู่สมรสว่ามีการนอกใจ ใช้อารมณ์บังคับในการดูข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์ ใช้วาจาที่รุนแรง ด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ โดยห้ามอีกฝ่ายตอบโต้ และรวมไปถึงการเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ดูแลคุณภาพชีวิตของคู่สมรส หรือเหยียดศักดิ์ศรีคู่สมรสโดยการมีคนอื่น เป็นต้น
อย่ายอมทนกับความ (คน) รุนแรง
ความรุนแรงในครอบครัว สามารถนำมาซึ่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผลกระทบระยะสั้นนั้น จะทำให้เด็กมีลักษณะนิสัยขี้หงุดหงิด เป็นเด็กเลี้ยงยาก และมักไม่มีความสุข เพราะมองโลกในแง่ลบ จนกลายเป็นปัญหาเมื่อต้องเข้าสังคม ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน เพราะไม่เชื่อฟังที่ครูสอน หากว่าเด็กยังต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคม มีลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไปกลายเป็นเด็กก้าวร้าว และชอบใช้ความรุนแรง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม และไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น จนอาจทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงบานปลายตามมา เพราะฉะนั้นหากว่าคุณหรือคนใกล้ตัวต้องอยู่ท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัว ต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
- ขอความช่วยเหลือ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และไม่ควรมีใครต้องถูกทำร้ายไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดขึ้นกับตัว (หรือคนใกล้ตัว) เมื่อไหร่ ให้รีบแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าช่วยเหลือ
- ป้องกันตัวเอง สามารถทำได้หลากหลายวิธี ซึ่งอาจเริ่มจากการเดินหนี ร้องให้ช่วย หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็อาจต้องหาวิธีสู้กลับ
- อย่ายอมทำตามคำขู่ เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดผลเสีย และกลายเป็นว่าต้องยอมไปเรื่อยๆ
- หาคนไว้ใจ (ได้) เล่าให้ฟัง การบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนที่ไว้ใจได้ นอกจากจะเป็นการได้ระบายออกแล้ว บางทีเขาเหล่านั้นอาจช่วยให้หลุดพ้นจากความรุนแรงก็ได้...ใครจะรู้
ถึงจะเป็นจีจ้า หรือจาพนม ก็คงไม่ยอมทนอยู่กับความรุนแรง (หรือถ้าอยากลองก็เข้ามาสิ้!)