อารมณ์ “เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย” เกิดจากอะไรกันแน่?

“เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย” ใครที่เปลี่ยนอารมณ์ไปมาชนิดที่ว่านักแสดงเจ้าบทบาทยังอายแบบนี้ อย่าหลงดีใจ เพราะคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านการแสดงเลยเชียว เพราะไม่แน่ว่าอาจจะเป็น “ไบโพล่าร์” ก็ได้ โดยมีตัวเลขประมาณการว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ราว 60 ล้านคน ส่วนของไทยเราตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2560 ได้เปิดเผยว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ จำนวน 31,521 คน นี่แปลว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเหมือนผีเข้าผีออก...ไม่ใช่เรื่องเกินจริง



อาการแบบนี้ถือว่าผิดปกติ...มั้ย?
“สามนาทีสี่อารมณ์” จากที่สนุกสนานอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเป็นเศร้าโศก หวาดกลัว หรือจากที่กำลังเศร้าเสียใจอยู่ดีๆ ก็หัวเราะดีใจขึ้นมาเฉยๆ ลักษณะอาการแบบนี้จัดว่าเป็นอารมณ์แปรปรวนคือ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้อย่างฉับพลัน ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยสิ่งแวดล้อมรอบตัว แม้เรื่องนั้นจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่อาจไม่ได้เป็นประเด็นอะไรกับคนทั่วไป เช่นเดียวกับความเครียด ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต อาหาร รูปแบบการนอนหลับ และยา โดยสามารถเกิดร่วมกับอาการวิตกกังวล หงุดหงิด ความจำสับสนและหลงลืม สมาธิสั้น เกิดภาพหลอน ซึมเศร้า พูดเร็ว แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำความเข้าใจเรื่องราวและอธิบายข้อมูลได้ยากลำบาก ไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจทำในเรื่องง่ายๆ ได้ ความอยากอาหารและน้ำหนักเปลี่ยนไป เหนื่อยล้า ท้อแท้ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ส่วนในรายที่เป็นผู้หญิงอาจมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอร่วมด้วย สามารถถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ด้วย

แปรปรวนเก่ง...นี่ฉันเป็นอะไร?
สำหรับที่มาของอารมณ์แปรปรวนนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย ทั้งจากภายในและภายนอก ดังนี้

#อาการทางจิต ไม่ว่าจะเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือชื่อที่รู้จักกันว่าไบโพลาร์ โรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง (major depressive disorder) โรคซึมเศร้าประเภทเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) โรคความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ (disruptive mood dysregulation disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) และโรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) ทั้งหมดนี้สามารถทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวนได้

#ความแปรปรวนของฮอร์โมน สามารถส่งผลกระทบกับสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งมักจะมีฮอร์โมนไม่คงที่ จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดอารมณ์แปรปรวนได้มากกว่า

#ยาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการใช้สารในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดการเสพติด ซึ่งเป็นอาการทางจิต

#ปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น อาการที่ส่งผลกระทบต่อปอด ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ต่อมไทรอยด์ และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้อย่างฉับพลันได้

ถึงอารมณ์จะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ถ้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะยังไงซะอารมณ์เปลี่ยนแปลง ก็ยังไม่รุนแรงเท่า (เธอ) เปลี่ยนใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มจะรุนแรงขึ้นมาถึงขั้นมีแนวโน้มว่าจะทำร้ายตัวเอง หรือคนรอบข้างล่ะก็ ค่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอแล้วกัน...
-->