รับมือยังไง? เมื่อผู้ใหญ่ในบ้าน “ยิ่งแก่ยิ่งดื้อ”

ยิ่งโตยิ่งดื้อ...ตอนเป็นเด็กเราอาจเจอพ่อแม่บ่นคำนี้ แต่ก็ทนฟังหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะอาจยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งวันนึงที่ได้มาเจอกับตัวเองนั่นแหล่ะถึงได้รู้ซึ้ง ซึ่งมีผลวิจัยโดย ดอนนา แอนเดอร์สัน (Donna Anderson) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Offender Therapy and Comparative Criminology บอกเอาไว้ว่าคนเราเมื่ออายุ 50 ปีไปแล้ว จะยิ่งชอบบงการ กดขี่ คนรอบตัวมากขึ้น แล้วพวกที่ “ยิ่งแก่ยิ่งดื้อ” แบบนี้จะมีวิธีดีลยังไงดีล่ะ



ยิ่งแก่ยิ่งดื้อคือ...ปัญหา (ของใคร) 
หลายบ้านอาจกำลังเจอปัญหา พ่อแม่ปู่ย่า หรือบรรดา สว ทั้งหลายพูดไม่ฟัง เพราะคิดว่าเด็กและประสบการณ์น้อยกว่า ดีไม่ดีพาลจะเหวี่ยงใส่ แถมทำไปในทางตรงกันข้ามเลย ซึ่งอาการนี้นี่แหล่ะที่เรียกว่า “ดื้อ” ซึ่งเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติที่พบได้ทั่วไป กับคนทุกช่วงวัย โดยจะแสดงออกอย่างชัดเจนในวัยเด็กและคนสูงวัยที่มี อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสิ่งที่แตกต่างของคน 2 วัยนี้คือสาเหตุของความดื้อ เพราะในวัยเด็กสาเหตุของความดื้อมาจากสมองกระตุ้นให้ร่างกายอยากออกสำรวจสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นประสบการณ์ใหม่และยังไม่เคยได้สัมผัส ตรงข้ามกับคนสูงวัย ที่หลังจากผ่านเรื่องราวที่หลากหลายแล้ว ก็ชอบจะทำตามสิ่งที่เป็นความเคยชิน ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องการแชร์ประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ซึ่งถ้ามีคนคอยรับฟังหรือแสดงอาการเห็นด้วยก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า เป็นที่รัก และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง ยิ่งถ้าก่อนหน้านี้เคยรับบทเป็นหัวหน้าครอบครัวมาก่อนด้วยล่ะก็นะ



ดื้อแล้ว (รับมือ) ไง!
“ไม้แก่ดัดยาก” อาจจะเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นไหนๆ เราก็ยังพอดัดได้ จึงเป็นฝ่ายที่ต้องปรับตัว ด้วยการ...

 
  • ยอมก่อน (ไม่ได้แปลว่า) แพ้ เพราะในทุกความขัดแย้งจะจบลงไม่ได้เลยถ้าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมก่อน ซึ่งการจะให้ผู้สูงวัยทำความเข้าใจและยอมถอยนั้นอาจเป็นเรื่องยากมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายยอมซะเอง ดังนั้นลองเอ่ย “ขอโทษ” คำสั้นๆ ที่ช่วยแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ 
 
  • ไม่ตามใจจนเคย...ตัว ตอนเป็นเด็กเขาว่าอย่าเลี้ยงตามใจ คนสูงวัยก็ไม่ต่างกัน ซึ่งบางอย่างถ้าทำแล้วเกิดผลกระทบไปถึงเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ก็ต้องบอกให้เข้าใจ ว่าเพราะอะไรถึงไม่อยากให้ทำ 
 
  • ระวังคำพูดและท่าทาง เพราะวัยนี้เป็นวัยที่อยู่ๆ นึกจะอารมณ์อ่อนไหวขึ้นมา ก็ดราม่าขึ้นมาซะเฉยๆ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ใกล้ชิดจึงควรต้องระวังคำพูดและท่าทางที่อาจจะมีผลและสร้างบาดแผลในใจ
 
  • ทำให้ “รู้สึก” มีความสำคัญ ด้วยธรรมชาติของคนวัยนี้ มักจะเก็บซ่อนอาการคิดมาก และหวาดกลัวว่าจะไม่มีใครสนใจ จนทำให้แสดงอาการดื้อออกมา เพื่อเรียกร้องความสนใจ ดังนั้นถ้าอยากให้ลดเลเวลความดื้อ ก็ทำให้รู้สึกว่ายังได้รับความใส่ใจอยู่เสมอ ด้วยการหาเวลาว่างนั่งพูดคุยเรื่องอดีต สิ่งที่เป็นความภูมิใจ ขอคำปรึกษา หรือเปิดโอกาสให้ สว ได้แสดงความคิดเห็นบ้าง จะได้รู้สึกว่าตัวเองยังมีความสำคัญอยู่ 
 
  • เปิดหูเปิดตาพาไปผ่อนคลาย บ่อยครั้งที่คนสูงวัยก็ไม่ได้ชอบอยู่แต่บ้าน เพียงแต่ที่ไม่ได้ออกไปไหนอาจเพราะเดินเหินหรือทำอะไรด้วยตัวเองไม่ค่อยสะดวก ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าถ้าจะมีลูกหลานพาออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง เพื่อสร้างความผ่อนคลายและอาจช่วยลดความดื้อลงได้บ้าง 
 
  • หาเวลาสร้างความเข้าใจ ไม่ว่ายังไงปัญหาและความไม่เข้าใจกันนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นให้ลองหาจังหวะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างเย็นลงเข้าไปพูดคุยสร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนคำพูดที่เป็นเชิงออกคำสั่งให้เป็นคำชักชวน เพื่อลดความกดดันและทำให้อยากหันมาให้ความร่วมมือมากขึ้น อธิบายกับผู้สูงอายุ วิธีการนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดแรงปะทะจากความขัดแย้งได้ เช่น แทนที่จะออกคำสั่ง เปลี่ยนเป็นการให้ชะลอหรือให้ทำสิ่งนั้นน้อยลงตามลำดับจนสุดท้ายผู้สูงวัยก็จะหยุดและเลิกไปโดยสิ้นเชิง การทำเช่นนี้สามารถลดความกดดันในตัวผู้สูงอายุและขณะเดียวกันก็ตอบสนองสิ่งที่ลูกหลานทักท้วงตักเตือน หรืออาจให้คนในบ้านที่ผู้สูงอายุสนิทสนมเป็นคนพูดคุยด้วยจะช่วยให้การอธิบายทำความเข้าใจระหว่างกันง่ายยิ่งขึ้น

ยังไงซะคนแก่ที่ดื้อรั้นทุกวันนี้ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นคนในครอบครัวที่เมื่อก่อนก็ทนกับความดื้อของเรามาเหมือนกันนั่นแหล่ะ... 
-->