ทำยังไง…เมื่อจู่ๆ ก็ ‘หมดไฟในการทำงาน’

“อย่ามาเล่นกับไฟร้อนๆ จะไม่ดี” เพลงนี้คงจะใช้ไม่ได้กับชีวิตการทำงาน เพราะถ้าถึงจุด “หมดไฟ” เมื่อไหร่อะไรก็รั้งไว้ไม่อยู่ ยิ่งมีข้อมูลงานวิจัยจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) บอกไว้ว่าผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพฯ จำนวน 12% อยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน ขณะที่อีก 57% อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ บวกกับว่าล่าสุดภาวะหมดไฟในการทำงานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย ก็เลยต้องมาเช็คดูอีกทีให้แน่ใจว่าอาการเบื่อหน่ายไม่อยากทำงานที่เป็นอยู่เพราะหมดไฟหรือแค่...ขี้เกียจกันแน่



ทำงานได้ไม่ดี…หรือนี่จะเกิดจากภาวะ “หมดไฟ”
ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome เป็นภาวะความอ่อนล้าทางอารมณ์ ที่มีความเครียดจากงานที่มากเกินไปเป็นเวลายาวนานเป็นต้นเหตุ จนทำให้เกิดความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ ส่งผลให้มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลง จนทำงานออกมาได้ไม่ดีเหมือนเคย โดยหากปล่อยทิ้งไว้นานวันก็จะยิ่งทำให้เสียแรงจูงใจในการทำงาน กลายเป็นความรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดี ตามมาด้วยสารพัดความคิดด้านลบ โดยคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ มักเป็นคนทำงานที่รู้สึกว่า…

...งานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงมีความซับซ้อน และต้องทำให้เสร็จในระยะเวลาที่จำกัด
...ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
...ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป
...ไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
...ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
...ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

สัญญาณนี้ชี้ว่า...หมดไฟ
นอกจากองค์การอนามัยโลกจะได้ขึ้นทะเบียนภาวะหมดไฟในการทำงานให้เป็นโรคใหม่แล้ว ยังได้ระบุถึงอาการหลัก 3 อาการ ของโรคไว้คือ หนึ่งรู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลียต่อเรื่องงาน  สองมีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตัวเองในทางลบ ขาดความกระตือรือร้นที่จะประสบความสำเร็จ และสุดท้ายคือ รู้สึกโดดเดี่ยว แยกตัวออกจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน โดยมีสัญญาณเตือนที่แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 
  • อารมณ์ ได้แก่ หดหู่ ซึมเศร้า ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน และไม่พอใจในงานที่ทำ 
  • ความคิด ได้แก่ มองคนอื่นในแง่ลบ และโทษคนอื่นเสมอ หวาดระแวง หนีปัญหา ไม่กล้าเผชิญหน้า นอกจากนี้ยังมักตั้งข้อสงสัยและไม่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง
  • พฤติกรรม ได้แก่ ผลัดวันประกันพรุ่ง เฉื่อยชา ไม่มีความกระตือรือร้น หุนหันพลันแล่น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และงานที่ทำ ไม่มีสมาธิ และรู้สึกเป็นทุกข์ในการทำงาน



หมดไฟ...ปล่อยไว้อาจไม่ใช่เรื่องดี
จากสัญญาณเตือนที่แสดงออกทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมแล้ว หากภาวะหมดไฟยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมา ได้แก่
  • ด้านร่างกาย...อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
  • ด้านจิตใจ...สำหรับบางคนอาจรู้สึกหมดหวัง ขาดแรงจูงใจ ตามมาด้วยอาการของภาวะซึมเศร้าและนอนไม่หลับ ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์
  • ด้านการทำงาน...ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง นำไปสู่การลาออกและหมดอนาคตในชีวิตการทำงานได้

รู้สึกเข้าใกล้ภาวะหมดไฟ (ในการทำงาน) … นี่คือสิ่งที่ต้องรีบจัดการ
อย่างที่บอกไปว่าภาวะหมดไฟในการทำงาน อาจนำมาซึ่งปัญหาอีกหลายด้าน เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าตัวเองเริ่มหมดไฟแล้วล่ะก็อย่ารอให้สาย แต่ให้รีบหาทางจัดการตามวิธีเหล่านี้
  • มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ 
  • รู้จักยอมรับในความแตกต่าง
  • ไม่ด่วนตัดสินใคร
  • เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้
  • ร่วมกิจกรรมขององค์กร
  • รู้จักแบ่งเวลา ไม่หักโหมทำงาน และหลีกเลี่ยงการเอางานกลับไปทำที่บ้าน รวมถึงไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้านด้วยเช่นกัน
  • สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และลดความกดดันในที่ทำงาน
  • เรียนรู้ที่จะขอความช่วยเหลือและรู้จักปฏิเสธอย่างเหมาะสม

ถึงยังไง “หมดไฟ” ก็ยังมีสิทธิ์กลับมา แต่ถ้ารอให้ “หมดใจ” คงต้องทางใครทางมัน
-->