ถอดรหัสอารมณ์ จากจอ (Inside Out 2) สู่ใจ
แม้ว่าจะออกจากโรงกันไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าใครที่ได้ดู Inside Out 2 ก็คงจะต้องมีรอยยิ้มหรือรอยน้ำตาค้างกันอยู่บ้าง ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่อง Inside Out แล้ว นี่คือตัวอย่างภาพยนตร์ที่อธิบายถึงอารมณ์ต่างๆ ของเราได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เรียกว่าหลังจากที่ดูจบ ก็ทำให้เราถึงกับต้องหันมานั่งวิเคราะห์ตัวเองเลยเหมือนกันว่าส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ตัวไหนที่มักจะครองพื้นที่คอนโซลของเรามากที่สุด และเราควรจะต้องจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ยังไงตอนเด็กๆ ชีวิตอาจเต็มไปด้วยความสุข
ถ้ายังจำกันได้ ย้อนไปในภาคแรก จะสังเกตเห็นว่าตัวละครที่มักจะคอยควบคุมคอนโซลของไรลีย์ในวัยเด็กนั่นคือ Joy หรือ ลั้ลลา ซึ่งเป็นตัวแทนของความสุขและพลังแห่งการคิดบวก เธอเปรียบเหมือนหัวหน้าของกองบัญชาการที่ต้องการจะปกป้องความเป็นตัวของตัวเองของไรลีย์ ให้เธอเป็นเด็กผู้หญิงที่มีความสุข คิดบวก และร่าเริงอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าชีวิตในวัยเด็กของไรลีย์จะมีแค่ความสุขเพียงอย่างเดียว เพราะก็ยังมีอารมณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน อย่าง เศร้าซึม ฉุนเฉียว กลั๊วกลัว และหยะแหยง ที่ถ้าจะพูดไปแล้ว พวกเราทุกคนต่างก็เคยมีอารมณ์เหล่านี้กันมาแล้วทั้งนั้น
เหมือนอย่างที่ พญ.บุรนาถ รุ่งลักษมีศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.ศิครินทร์ ได้พูดถึงอารมณ์ต่างๆ ของเด็กไว้ว่า อารมณ์โกรธ หงุดหงิด เสียใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่ว่าความสามารถในการจัดการอารมณ์ของแต่ละคนอาจมีไม่เท่ากัน และเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ อาจจะยังไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองได้ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น ก้าวร้าว โวยวาย ร้องไห้ ได้นั่นเอง
พอโตขึ้น อารมณ์ก็เริ่มหลากหลาย
จะเห็นว่าในภาคแรกนั้นเป็นตอนที่ไรลีย์อายุ 11 ปี ชีวิตอาจจะเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน แต่พอเธอโตขึ้น แน่นอนว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เธอได้พบเจอก็หลากหลายมากขึ้น เธอต้องเจอจุดเปลี่ยนต่างๆ ในชีวิต ซึ่งก็ไม่ผิดที่เธออาจจะยังรับมือได้ไม่ดี เพราะในช่วงอายุนี้เริ่มมีตัวละครทางอารมณ์ในเชิงลบที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ว้าวุ่น เฉยชิล อิจฉา เขินอาย จากที่ Joy กลายเป็นผู้นำในการบังคับคอนโซล ก็เปลี่ยนมือกลายมาเป็นว้าวุ่น หรือ Anxiety โดยในเรื่องนั้นตัวละคร ‘ว้าวุ่น’ ตัวนี้ คือพลังงานแห่งการมัดรวมความปั่นป่วนแบบฉ่ำๆ เพื่อเตรียมให้ไรลีย์พร้อมรับมือกับสิ่งไม่ดีต่างๆ หรือสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอันตราย แต่ด้วยความวิตกกังวลจนเกิดเบอร์ ก็ทำให้ไรลีย์ต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้ได้
มีข้อมูลจาก ลิซ่า ดามูร์ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน หนึ่งในทีมผู้สร้าง Inside Out 2 ได้พูดถึงเรื่องของอารมณ์ที่เปลี่ยนถ่ายจากเด็กไปสู่วัยรุ่นได้อย่างน่าสนใจ ‘ก่อนอายุ 13 เด็กจะมีความคิดที่เป็นรูปธรรม พวกเขาจะยังไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองอื่นได้มากเท่าไหร่ แต่พออายุ 13-14 ความสามารถในการ ‘เห็นตัวเองจากมุมของคนอื่น’ จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อจินตนาการถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่ตามมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาของสมอง’
และเมื่อเราเริ่มนึกถึงมุมมองของคนอื่น นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มที่จะคิดซับซ้อนขึ้น และเริ่มเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นด้วย และเมื่อเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสังคม การยอมรับจากสังคมก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดแก๊งค์อารมณ์วิตกกังวล อิจฉา เขินอาย หรือแม้แต่เบื่อหน่ายขึ้นมานั่นเอง
รับมือกับ ‘ว้าวุ่น’ ได้ ชีวิตก็ง่ายขึ้น
แม้ว่า ‘ว้าวุ่น’ จะสร้างเรื่องปั่นป่วนให้กับไรลีย์มากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งต่างๆ ที่เธอทำกับคอนโซลแห่งอารมณ์นั้นล้วนอยู่บนเจตนาที่ดี สิ่งที่ว้าวุ่นกังวลและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกับไรลีย์นั่นก็คือ การกลัวความผิดพลาด แต่ด้วยความที่เธอหมกมุ่นกับสิ่งที่ยังไม่เกิดนี้มากจนเกินไป เธอจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น โดยบางครั้งอาจผลักดันให้ไรลีย์เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้ามองในแง่ดี ความวิตกกังวลของว้าวุ่นนี้ ช่วยให้ไรลีย์เรียนรู้ที่จะคาดการณ์และวางแผนต่างๆ ได้ดี เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่าถึงแม้ว่า ว้าวุ่น จะเป็นตัวสร้างความปั่นป่วน แต่ก็สอนไรลีย์ให้เรียนรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเช่นกัน
และเมื่อเรารู้จักเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เราก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นตามไปด้วย อย่าลืมมาแชร์กันว่าสำหรับแผงคอนโซลของคุณนั้น มีตัวละครไหนเป็นผู้คุมอยู่กันบ้าง?