9 เทคนิค บริหารเสน่ห์ให้เพื่อนร่วมงานเอ็นดู ด้วยหลักจิตวิทยา

‘ออฟฟิศเราทำงานกันแบบครอบครัว พี่น้องช่วยๆ กัน งานสบายๆ’ ในโลกของการทำงานที่ไม่เคยเข้าใครออกใคร ขอบอกเลยว่าประโยคเด็ดเซตนี้ อาจมีความจริงอยู่เพียงแค่ครึ่งเดียวหรือไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำ! 

เพื่อนร่วมงาน, จิตวิทยา, ชีวิตทำงาน,  ชาวออฟฟิศ, พนักงานประจำ, ทำงาน, งานด่วน, เพื่อนใหม่

แน่นอนว่า เราไม่สามารถรู้เลยว่าที่ที่เราเลือกไปทำงานนั้น จะเจอกับ ‘เพื่อนร่วมงาน’ แบบไหนกันบ้าง เพราะทุกคนล้วนมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจะคาดหวังให้ทุกคนมีนิสัยคล้ายๆ กับเรา หรือมีความคิดแบบเดียวกับเราทั้งหมดก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการซื้อกล่องสุ่มที่มาพร้อมความเซอร์ไพรส์นั่นแหละ แค่ครั้งนี้เราเปิดมาเจอกับชีวิตจริงก็เท่านั้น คงต้องลองแกะ ลองเล่น และลองปรับตัวให้รอดกันไปตามสถานการณ์

เพราะฉะนั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน จึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานของทุกคนนั้นราบรื่นและมีความสุขมากขึ้น อย่ารอช้า! มาบริหารเสน่ห์ให้เพื่อนร่วมงานเอ็นดู โดยใช้หลักจิตวิทยา 9 ข้อนี้ มาช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้เพื่อนร่วมงานประทับใจมากขึ้นกัน

วิธีที่ 1 : เอาชนะใจ ด้วยรอยยิ้มและท่าทางที่เปิดรับ
ถ้าเราลองสังเกตดูดีๆ จะพบว่า คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มักมีคนอยากเข้าใกล้และอยากพูดคุยด้วยก่อนเสมอ นั่นก็เพราะรอยยิ้มเป็นสัญลักษณ์เชิงบวกที่มนุษย์ให้ความหมายเหมือนเป็นการต้อนรับตั้งแต่หน้าประตู 

แม้ว่าคุณและเขาจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อมีคนยิ้มให้อีกฝ่ายย่อมอยากยิ้มตอบ ซึ่งนั่นเป็นปฏิกิริยาของมนุษย์แบบอัตโนมัติ รอยยิ้มจึงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่ช่วยดึงดูดผู้คน แสดงถึงความจริงใจ การมีอารมณ์ดี และพร้อมจะเข้าหาอย่างไม่ถือตัว แต่คงไม่มีใครอยากเข้าหาคนที่ยิ้มยากหรอก จริงไหม?

วิธีที่ 2 : รับบท ‘ผู้ฟังที่ดี’ ฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ 
การเป็นผู้ฟังที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลองฝึกฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะ แสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม และแสดงความเข้าใจด้วยภาษากายง่ายๆ เช่น การพยักหน้า หรือการสบตา เมื่อคู่สนทนารู้สึกว่าได้รับความสนใจ พวกเขาจะรู้สึกเป็นที่ยอมรับและมีแนวโน้มที่จะชอบคุณมากขึ้น
 
วิธีที่ 3 : ‘เลียนแบบ’ ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ
การเลียนแบบในเชิงหลักจิตวิทยา อธิบายว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลที่เราชอบ เคารพ หรือชื่นชม โดยไม่รู้ตัว เช่น ท่าทาง ภาษากาย การนั่งไขว่ห้าง การเอียงตัวไปข้างหน้าขณะฟัง รวมไปจนถึงคำพูดบางคำ เป็นต้น 

แล้วทำไมเราถึงต้องเลียนแบบไอดอลเราด้วยล่ะ? 

นั่นเป็นเพราะว่าการเลียนแบบท่าทางจะช่วยสร้างความคุ้นเคย ลดช่องว่างระยะห่างของคนที่ไม่รู้จักกัน และทำให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่า การเลียนแบบไม่ใช่การลอกเลียนแบบพฤติกรรมไอดอลของเราไปซะหมด และต้องทำในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ทำบ่อยเกินไปจนอีกฝ่ายรู้ตัว ทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าการเลียนแบบท่าทาง เป็นเพียงเทคนิคเสริมหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเป็นตัวของตัวเอง แสดงออกถึงความจริงใจ ความมีน้ำใจ และมีความรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณเอ็นดู ชื่นชอบ และพร้อมที่จะร่วมมือกับคุณมากขึ้น

เพื่อนร่วมงาน, จิตวิทยา, ชีวิตทำงาน,  ชาวออฟฟิศ, พนักงานประจำ, ทำงาน, งานด่วน, เพื่อนใหม่

วิธีที่ 4 : เรียกชื่อเล่นของผู้อื่นและตัวเองระหว่างการสนทนา
การเรียกชื่อเล่นในการสนทนาเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นกันเอง ไม่ถือตัว สนิทใจมากขึ้น และทำให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ ซึ่งการที่คนอื่นเรียกชื่อเล่นของเราบ่อยๆ จะทำให้เรารู้สึกดีและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ดังนั้น การที่เราเรียกชื่อเล่นของอีกฝ่าย จึงทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับพวกเขาและจดจำเอกลักษณ์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
 
วิธีที่ 5 : ชวนคุยเรื่องที่เราและอีกฝ่ายสนใจ
ลองหาตัวเชื่อมความสัมพันธ์ดีๆ ซึ่งอาจเป็นหัวข้อเรื่องงานอดิเรกที่ทั้งเราและเขาให้ความสนใจมาพูดคุยแชร์ไอเดียความชอบหรือความประทับใจต่อกัน แต่ต้องเป็นคนช่างถามและช่างสังเกตหน่อยนะ เพราะเรื่องแบบนี้บางคนไม่ได้อยากเปิดเพื่อคุยกับทุกคนยังไงล่ะ! อาจจะต้องอาศัยเวลา เพิ่มเติมความสนิทสนมลงไปอีกหน่อย แต่ลองชิงถามก่อนก็ได้ ไม่ได้เสียหายอะไร ไม่แน่อาจจะเจอเพื่อนที่ชื่นชอบสไตล์เดียวกับเราก็เป็นไปได้
 
วิธีที่ 6 : ให้คำชมที่จริงใจและเฉพาะเจาะจงของเพื่อนแต่ละคน
ทุกคนชอบได้รับคำชม แต่ต้องเป็นคำชมที่จริงใจและเฉพาะเจาะจง ซึ่งแต่ละคนก็จะได้รับคำชมที่แตกต่างกันออกไป ลองชมในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีจริงๆ และอธิบายว่าทำไมสิ่งนั้นถึงน่าประทับใจ 

อย่าชมแบบหว่านแห เช่น เธอเก่งมากเลย เธอทำได้ดีมาก ซึ่งคนที่ถูกชมอาจเกิดคำถามขึ้นว่า ฉันเก่งอะไรหรอ? แล้วสิ่งที่ฉันทำได้ดีมันคืออะไรกันนะ? แล้วถ้าเราลองเปลี่ยนคำชมเป็นแบบนี้แทนล่ะ ผลลัพธ์จะเปลี่ยนไปไหม เช่น เธอวิเคราะห์ข้อมูลเก่งมากเลย ไม่เสียแรงที่เธอเป็นตัวท็อปๆ ของทีม หรือฝีมือการทำไก่ทอดของเธออร่อยที่สุด จนต้องยกนิ้วเยี่ยมให้เลย

คำชมที่ถูกขยายความอย่างจริงใจแบบนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกดี พลังบวก และความผูกพันระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานได้ดีเลยทีเดียว

เพื่อนร่วมงาน, จิตวิทยา, ชีวิตทำงาน,  ชาวออฟฟิศ, พนักงานประจำ, ทำงาน, งานด่วน, เพื่อนใหม่

วิธีที่ 7 : บริหารการทำงานให้ดี
พูดง่ายๆ ก็คือ รับผิดชอบในงานที่ตัวเองได้รับมอบหมายทั้งหมดให้ดีเยี่ยม บริหารเวลาทำงานให้ดี พยายามไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ไปกระทบกับการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ 

รวมถึงควรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เช่น ชัดเจน ตรงประเด็น เคารพความเห็นที่แตกต่าง พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงการนินทา พูดจาดูถูก หรือสร้างความขัดแย้ง รักษาคำพูด ควบคุมอารมณ์ และที่สำคัญ คือ แยกแยะระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ 
 
วิธีที่ 8 : ช่วยเหลือและแบ่งปัน เชื่อมความสัมพันธ์ให้ยิ่งใหญ่ 
การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพราะถือเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เพื่อนร่วมงานไม่ Toxic แบ่งปันความรู้โดยไม่หวง หัวหน้าไม่จ้องแต่จะกินหัว ปัจจัยเล็กๆ พวกนี้ ก็อาจกลายเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ในการอยากทำงานต่อไปนั่นเอง
 
วิธีที่ 9 : ยอมรับความผิดพลาด เมื่อทำผิด
ไม่มีใครไม่เคยทำงานพลาดมาก่อน เพียงแต่เมื่อรู้ว่าพลาดแล้ว เราจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าอย่างไรมากกว่า?

ทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้ การกล้ายอมรับความผิดพลาดของตนเอง และแสดงความรับผิดชอบจะช่วยสร้างความเคารพ วุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ และได้ความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงาน 

จงอย่ากลัวที่จะผิดพลาด แต่จงกลัวการไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำมากกว่า ถ้าผิดพลาดแล้ว ก็แค่ยอมรับ และรีบหาทางแก้ไข เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นๆ ไว้เป็นบทเรียน อย่าแก้ตัว อย่าแถไถไปมา อย่าโยนความผิดให้ผู้อื่น อย่าพูดจาเสียดสี วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นมากขึ้นแน่นอน
 
การบริหารเสน่ห์ในที่ทำงานเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ โดยใช้หลักจิตวิทยาพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ใครอยากตีซี้เพื่อนร่วมงานแบบไวๆ ลองนำเทคนิค 9 ข้อนี้ไปปรับใช้กันนะ หวังว่าจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานทุกคนเอ็นดูคุณมากขึ้น
-->