ทำตัวยังไงดี? เมื่อต้องมารับบทที่ปรึกษาแล้วหนึ่ง!

“พอจะมีเวลาว่างสัก 5 นาทีมั้ย” ประโยคนี้คุ้นๆ หูใครกันบ้าง เชื่อเลยว่าเราทุกคนต้องมีที่ปรึกษาส่วนตัว เพราะไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะตลก ขำๆ หรือถึงขั้นสาหัส ที่ปรึกษาคนนี้ก็ยืนหนึ่ง นัมเบอร์วันตลอดกาล



ทำยังไงดี? เมื่อต้องบทรับบทนางที่ปรึกษา
ส่วนใหญ่ในกลุ่มเพื่อนๆ ของพวกเราทุกคนจะมีหนึ่งคนที่ทุกคนเชื่อใจและไว้ใจว่า ถ้าเรื่องนี้ต้องเป็นคนนี้เท่านั้น และหนึ่งในเรื่องราวของหน้าที่ที่ปรึกษาก็ต้องมีอยู่ในลิสต์นี้เช่นกัน และเมื่อต้องรับบทนางที่ปรึกษาก็มักจะเจอเรื่องราวต่างๆ นานาของทุกคนในกลุ่ม แน่นอนว่ามันก็คงมีทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดีปะปนกันไป แต่เมื่อไหร่ที่เราให้คำปรึกษาเพื่อน สิ่งสำคัญคือ ผลลัพธ์ของเรื่องที่เราได้แนะนำ หรือบอกกล่าวไป เพราะมันอาจจะกำลังชี้ทางให้อีกคนคิดตาม และสามารถกระทำตามได้ ซึ่งถ้ามันเป็นไปในทิศทางด้านบวก อันนี้น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อไหร่ที่มีการชี้นำไปในทิศทางที่ไม่ดี อันนี้อาจจะเข้าข่ายผู้ชี้นำในสิ่งที่ผิด ซึ่งสิ่งนี้ มักเกิดในกลุ่มของเพื่อนสนิท เพราะเราอาจจะมองและแคร์ความรู้สึกของเพื่อนมากกว่าคนอื่นนั่นเอง ดังนั้นหากเราต้องรับบทที่ปรึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้เราคิดในแง่ดีเอาไว้ก่อนว่า เขาอาจจะไว้ใจและรู้สึกสบายใจที่จะเล่าให้เราฟัง มากกว่าคนอื่นๆ หากเราเชื่อมั่นแบบนั้นแล้วอาจทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น นอกจากนี้การเป็นที่ปรึกษาไม่ได้จำเป็นต้องบรรลุผลสำเร็จเสมอไป บางครั้งเรื่องที่เราแนะนำอาจจะได้ผลดี หรืออาจจะเฟล ทุกเรื่องสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

ที่ปรึกษาที่ดี มีทักษะพิเศษแอบซ่อนอยู่
การได้รับบทบาทเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่างเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่ว่าใครก็เป็นกันได้ ดังนั้นหากเรารู้สึกว่ามีคนเข้ามาปรึกษาเราบ่อยๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า เราอาจจะเป็นความหวังดาวดวงใหม่ของใครอยู่ก็เป็นได้ และนี่คือคุณสมบัติของที่ปรึกษาที่ดี ที่จะบอกว่าคุณเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้มากน้อยเพียงใด
 
  • คุณมีทักษะการพูดที่โดดเด่น ก็แน่นอนละ การรับบทเป็นที่ปรึกษาไม่ได้คิดเก่ง จดจำเก่งเพียงอย่างเดียว และมันคงขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือ ทักษะการพูด บางคนมีทักษะนี้อย่างโดดเด่น พูดเข้าใจง่าย เลือกใช้คำได้ดีและถูกต้องตามสถานการณ์ มีลูกล่อลูกชน เรียงลำดับการพูดได้เป็นขั้นเป็นตอน หรือพูดจนสามารถโน้มน้าวใจให้เชื่ออย่างสนิทใจ ทักษะการพูดแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งข้อดีของที่ปรึกษาไม่น้อยเลย
  • คุณเป็นคนชอบฟังมากกว่าพูด ทักษะนี้อาจจะเป็นหนึ่งในทักษะที่ดีของที่ปรึกษา การฟังจะช่วยจับประเด็นและเรื่องราวต่างๆ ได้ เมื่อเราเข้าใจแกนหลักของเนื้อเรื่อง เราก็จะสามารถสรุปได้ตรงประเด็นที่สุด ดังนั้น การเป็นที่ปรึกษาที่ดีควรฟังมากกว่าพูดเพื่อทำให้ตัวเองนั้นเข้าใจปัญหาของเรื่องได้อย่างแท้จริง สุดท้ายเราจะส่งมอบคำแนะนำและทางออกปัญหาของเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี
  • คุณใส่ใจในรายละเอียดของทุกคนรอบตัว คนที่อินดีเทลมากๆ มักคุณสมบัติที่ดีมากๆ อีกข้อนึงของที่ปรึกษา เมื่อไหร่ที่คุณใส่ใจกับทุกคำพูดที่เขาคนนั้นเล่ามา คุณจะสามารถสรุปใจความสำคัญของเรื่องได้อย่างตรงประเด็นที่สุด อีกหนึ่งข้อดีของการจดจำดีเทล จะทำให้ปัญหาที่มัดเป็นปม ถูกคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว
  • ภาษากายของคุณโดดเด่น คุณสมบัติของที่ปรึกษาที่ดีคือการรับฟัง และไม่เพียงแค่ฟังเพียงอย่างเดียว เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคู่สนทนาของเราด้วย เพราะภาษากายเพียงแค่การพยักหน้า สบตา หรือตอบกลับด้วยคำทั่วๆ ไปอย่าง อื้ม อ่าห้ะ อ๋อเหรอ ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจและยินดีที่จะเล่าทุกเรื่องที่ไม่สบายใจออกมาให้เราฟัง
  • ทุกคนสามารถนั่งคุยกับคุณได้เรื่อยๆ เพราะไม่ว่ากี่ร้อยพันเรื่องก็เดินมาเล่าให้เราฟังตลอด แถมไม่ว่าจะคุยนานแค่ไหนก็สามารถคุยกับเราได้เป็นชั่วโมง ถ้าคุณเคยอยู่ในสถานการณ์นี้ ให้เดาไว้เลยว่า คุณกำลังรับบทที่ปรึกษาเข้าแล้วล่ะ อีกหนึ่งข้อดีของการคุยในสถานการณ์แบบนี้ แสดงให้เห็นว่า เขาไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวเรา ซึ่งเราอาจจะช่วยเขาแก้ปัญหาที่เขากำลังไม่สบายใจอยู่ได้

แม้ว่าที่ปรึกษาจะรู้สึกเฟล โดยเฉพาะที่ปรึกษาเรื่องความรัก เพราะเธอและเขากลับไปดีกัน อยู่ดีๆ ที่ปรึกษาก็กลายเป็นหมาหัวเน่าไปซะอย่างนั้น อย่าเพิ่งท้อแท้และหมดหวัง เพราะลูกท้อมีเอาไว้ให้ลิงถือ ไม่ใช่เรา!
-->