รู้จักภาวะ 'SAD' ฤดูพาเหงา เมื่อซึมเศร้าเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

เคยสังเกตกันไหมว่า? ในช่วงที่อากาศเย็นลง ท้องฟ้ามืดครึ้ม หรือแสงแดดที่ส่องน้อยลงในแต่ละวัน อาจทำให้หลายคนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เช่น ความรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง และความเหนื่อยล้าที่แทรกซึมเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว แล้วทุกคนล่ะ คิดว่าสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของเราได้จริงหรือไม่?



บรรยากาศเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงความรู้สึกธรรมดาที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า SAD ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะซึมเศร้าที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

SAD ภาวะซึมเศร้าที่มาพร้อมกับฤดูกาล
ภาวะ SAD เป็นมากกว่าแค่ความเศร้าธรรมดาๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีอาการเศร้าซึม บางครั้งก็เหงาแบบไม่มีสาเหตุ ซึ่งจะเริ่มปรากฏในช่วงเดียวกันของทุกปี โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและคงอยู่ตลอดช่วงฤดูหนาว ก่อนที่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน เปรียบเสมือนวงจรธรรมชาติที่หมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมชาวต่างชาติหลายคนถึงหลงรักเมืองไทย และอยากกลับมาเที่ยวอีก แม้ว่าบ้านเราจะมีอุณหภูมิที่สูงปรี๊ดขนาดนี้!!

เจาะลึกเบื้องหลัง อาการ และความสัมพันธ์สุด SAD
เมื่อ SAD เข้ามาเยือน ร่างกายและจิตใจจะเริ่มส่งสัญญาณบอกถึงความผิดปกติ ความรู้สึกเหนื่อยล้าจะเข้ามาครอบงำ แม้จะนอนหลับมากเพียงใด แต่ก็ยังรู้สึกไม่สดชื่นเหมือนเดิม นอกจากนี้ บางคนอาจพบว่า ตนเองต้องการนอนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่พอได้นอนครบแล้ว กลับยังรู้สึกง่วงและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ความอยากอาหารก็เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความอยากรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและของหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ จึงส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านอารมณ์และจิตใจ ผู้ที่มีภาวะ SAD มักจะรู้สึกเศร้า หดหู่ และสิ้นหวัง ความมั่นใจในตนเองลดลง และบ่อยครั้งที่จะรู้สึกไร้ค่า หรือมีความรู้สึกผิดโดยไม่มีเหตุผล อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดบ่อย และที่สำคัญ คือ การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ หลายคนเริ่มแยกตัวจากสังคม ไม่อยากพบปะผู้คน เหมือนกับว่าความมืดครึ้มของท้องฟ้าได้แทรกซึมเข้ามาในจิตใจ ทำให้รู้สึกหม่นหมองอย่างเลี่ยงไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก่อนแพลนไปเที่ยวที่ไหน ก็ควรศึกษาสภาพอากาศไว้ให้ดีก่อนไป เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่กำหนดว่าทั้งวันจะเป็น Good Day หรือ Bad Day ของคุณได้เช่นกัน




‘แสงแดด ฮอร์โมน และอารมณ์’ เมื่อร่างกายปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล 
การเกิดภาวะ SAD ถือเป็นการเชื่อมโยงกับกลไกทางชีวภาพของร่างกาย เมื่อแสงแดดน้อยลง นาฬิกาชีวภาพหรือ Circadian Rhythm ของร่างกายจะถูกรบกวน ส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนต่างๆ เกิดความแปรปรวน โดยเฉพาะ ‘ระดับของสารเซโรโทนิน’ ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ จะมีปริมาณลดลงอย่างมาก 

และในส่วนของการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับก็เกิดความไม่สมดุล ทำให้วงจรการนอนและการตื่นผิดเพี้ยนไปจากปกติ

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญ โดยคนที่เป็นภาวะ SAD มักพบมากในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ในประเทศที่มีช่วงกลางวันสั้นในฤดูหนาว หรือพื้นที่ที่มีสภาพอากาศมืดครึ้มเป็นประจำ 

นอกจากนี้ ปัจจัยส่วนบุคคลก็มีผลไม่น้อย โดยพบว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย และมักพบในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น รวมถึงผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะนี้เช่นกัน

'Light Therapy' ทางออกของภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล
แน่นอนว่าในความมืด ยังมีความหวังอยู่เสมอ เพราะ SAD เป็นภาวะที่สามารถรักษาและจัดการได้ด้วย ‘แสง หรือ Light Therapy’ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้แสงที่มีความเข้มพิเศษ เพื่อชดเชยแสงธรรมชาติที่ขาดหายไป การใช้ไฟบำบัดที่มีความเข้ม 10,000 ลักซ์ เป็นเวลา 20-30 นาที ในทุกเช้า สามารถช่วยปรับสมดุลของนาฬิกาชีวภาพและระดับสารสื่อประสาทในร่างกายได้

นอกจากนี้ การรักษาด้วยยาต้านเศร้า โดยเฉพาะกลุ่ม SSRIs ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และควรทำควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy หรือการบำบัดจิต โดยปรับความคิดและพฤติกรรม รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการจัดการกับอารมณ์เศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างเช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การจัดการความเครียดผ่านการทำสมาธิหรือโยคะ และการรักษาสมดุลในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการของ SAD ได้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตระหนักว่า SAD ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเผชิญเพียงลำพัง การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ การกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และการเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนทางจิตใจ ล้วนเป็นก้าวสำคัญในการเยียวยาและฟื้นฟูความคิดและสภาพจิตใจ 

เพราะแม้ว่าฤดูหนาวอาจนำพาความมืดมิดมาเยือน แต่ด้วยการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ก็สามารถทำให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ เพื่อรอคอยแสงแดดอันอบอุ่นในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนั่นเอง
-->