เวลามีเรื่องซวย ๆ ทำไมต้อง 'เกิดแต่กับกู' ไขเบื้องหลังจิตวิทยาของคนดวงซวย

Born with who don’t know แต่ที่แน่ ๆ born but with me แน่นอน!!! เคยแอบคิดมั้ยทำไมเรื่องซวย ๆ ถึงเกิดขึ้นกับเราคนเดียว จนเป็นวลีสุดฮิตบนโลกออนไลน์อย่าง “เกิดแต่กับกู” หรือจริง ๆ แล้ว เราเป็นคนที่โลกไม่รักตั้งแต่แรกกันแน่

"ปกติก็เห็นร้านนี้เปิดอยู่นะ แต่วันที่ชวนเพื่อนมาดันปิดซะงั้น…"

"ปกติพกร่มติดกระเป๋าตลอด แต่วันนี้ที่ไม่ได้พกแล้วฝนก็ดันตกซะงั้น…"

"ปกติคอมก็ไม่มีปัญหา แต่วันที่มีประชุมใหญ่ดันเปิดไม่ติดซะงั้น…"

"ปกติไม่เคยมาสาย แต่วันที่มีพรีเซ็นท์งานสำคัญ ไฟจราจรทุกแยกเปลี่ยนเป็นสีแดง…"



แล้ววันไหนเริ่มต้นวันด้วยความซวยแล้วละก็ วันนั้นทั้งวันจะมีแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้จนเราอาจเผลอพูดออกมาว่า “นี่มันอะไรกันเนี่ยยยย” ฟังดูเหมือนจะตลกใช่มั้ย แต่ถ้าเกิดขึ้นกับตัวแล้วคงจะมีขำไม่ออกเหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาของคนดวงซวยที่เรียกว่า “Murphy’s Law”

Murphy’s Law หรือ กฎของเมอร์ฟี่ มาจาก เอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี่ (Edward Murphy) วิศวกรผู้เคยประจำการอยู่ที่กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่า..

“Anything that can go wrong, will go wrong” สิ่งใดที่สามารถผิดพลาดได้ มันจะผิดพลาดได้เสมอ
ย้อนกลับไปตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1949 คือยุคทองของเทคโนโลยีทางการบินมากกว่ายุคไหน ๆ กองทัพอากาศสหรัฐเองกำลังทำการทดลองเกี่ยวกับแรงจี (G-Force) เพื่อหาความทนทานที่ผิวหนังของมนุษย์มีต่อแรงโน้มถ่วงของโลก นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการบินของพวกเขาเลยก็ว่าได้ แต่ในการทดลองนั้นเอ็ดเวิร์ดและลูกทีมพบกับความผิดพลาดอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีท่าทีที่จะสำเร็จ ทุกส่วนเกิดปัญหาไปหมด จนเอ็ดเวิร์ดคิดขึ้นมาได้ว่าทุกจุดในการทดลองของเขาสามารถเกิดความผิดปกติได้จริงไม่เกี่ยวกับพระเจ้าลงโทษหรือความซวยแต่อย่างใด

จนสุดท้ายพวกเขาก็สามารถทำการทดลองได้สำเร็จและต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมทางการบินมากมาย โดยกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จนี้คือประโยค “Anything that can go wrong, will go wrong” ทำให้ทุกคนช่วยอุดช่องโหว่ทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ จนการทดลองมันสำเร็จจริง ๆ 

พอได้รู้เรื่อง Murphy’s Law แล้วลองมองย้อนกลับมาที่เรื่องราวที่ตนเองพบเจอดูสิ มันอาจจะไม่ได้ซวยอย่างที่คิดแต่เพราะมันมีโอกาสที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ต่างหาก แต่ในบางครั้งเป็นตัวเราเองนี่แหละที่เลือกมองข้ามโดยคิดว่าคงไม่เป็นไรหรอก 
เริ่มมองเห็นมั้ยว่า...
ทำไมไฟแดงในวันที่มีพรีเซ็นท์สำคัญ (ถ้าออกจากบ้านเช้ากว่านี้อาจจะเจอไฟเขียวตลอดก็ได้)
ทำไมวันนี้หมูกรอบร้านป้าหมด (ถ้าโทรถามป้าก่อนก็คงจะไม่เสียใจเท่านี้)
ทำไมฝนต้องมาตกวันที่ไม่พกร่ม (ถ้าเปิดเช็คพยากรณ์อากาศก่อนออกจากบ้านและหยิบร่มติดมือไปด้วยก็คงจะไม่เปียก)

แต่จะว่าไปเราเองก็ไม่ได้มีความสามารถมองเห็นอนาคตแบบรู้ทุกเรื่องได้ล่วงหน้าใช่มั้ยล่ะ เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่างมีสติและเตรียมตัวป้องกันก็คงจะดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลยนะ

สุดท้ายแล้วให้ Murphy’s Law เป็นสิ่งเตือนใจเราว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอและไม่มีอะไรเป็นไปได้อย่างใจเราหวังทั้งหมด ถึงเราจะ Predict ไม่ได้ แต่สามารถ Prepare ได้นะ!
 
-->