Astraphobia อกสั่นขวัญหาย เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่า!
วันไหนท้องฟ้าแจ่มใสก็เบิกบานหัวใจ แต่เมื่อไหร่ที่ฟ้ามืด ลมแรง มีฝนเริ่มโปรยปราย ก็เริ่มมีอาการเหงื่อแตก หวาดผวา เสียงฟ้าเริ่มมา…ใจก็เริ่มสั่น สั่นยิ่งกว่านัดเดทก็เสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยงนี่ล่ะ! แม้เรื่องนี้อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เดี๋ยวฝนหยุดก็คงหายไปเอง แต่รู้มั้ยว่าที่จริงแล้วโรคกลัวเสียงฟ้าร้อง (Astraphobia) คืออาการทางจิตชนิดหนึ่งทางเว็บไซต์ healthline ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคกลัวเสียงฟ้าร้อง (Astraphobia) ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้อาจมีการเชื่อมโยงกับประสบกาณ์ไม่ดีในวัยเด็ก รวมไปถึงการเชื่อมโยงของระบบประสาทและสมองนั่นเอง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็คงต้องขอลองเช็คให้ชัวร์ว่าเราแค่ตกใจเสียงฟ้าหรือเป็นโรคนี้จริงๆ กันแน่…?
โรคกลัวเสียงฟ้าร้อง Astraphobia คืออะไร?
Astraphobia เป็นโรคกลัวฟ้าร้องหรือกลัวฟ้าผ่า โดยส่วนใหญ่แล้วเสียงฟ้าร้องจะสามารถทำให้เด็กตกใจกลัวและเกิดอาการผวาได้เหมือนกัน แต่…ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่จะกลัวไม่ได้ เพราะโรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศ ทุกวัยได้ ซึ่งความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นนี้จะดูเหมือนไม่มีเหตุผล และจะรู้สึกวิตกกังวลทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด แต่ก็ไม่สามารถหยุดความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง
เช็คให้ชัวร์…เราเป็นโรคกลัวฟ้าร้องอยู่หรือเปล่า?
อย่างที่บอกว่าจริงๆ แล้วอาการกลัวฟ้าร้องสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเสียงฟ้าฟาดมักมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะรู้สึกตกอกตกใจกันบ้าง แต่ความแตกต่างสำหรับคนที่เป็นโรค Astraphobia กับคนทั่วไป ก็คือในบางครั้งคนที่เป็นโรค Astraphobia จะมีอาการรู้สึกตื่นตระหนกทั้งก่อนและระหว่างเกิดพายุ รวมถึงมีอาการต่างๆ ร่วมด้วย เช่น
- ร่างกายสั่น
- เหงื่อออกฝ่ามือ
- เจ็บหน้าอก
- รู้สึกตัวชา
- คลื่นไส้ และใจสั่น
- หายใจลำบาก
- ต้องการซ่อนตัวจากพายุ เช่น ในตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ หรือใต้เตียง
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่น การร้องไห้ออกมา (โดยเฉพาะในวัยเด็ก)
อะไร? คือสาเหตุที่อาจทำให้เป็นโรคกลัวเสียงฟ้าร้อง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มีหลายปัจจัย แต่หลักๆ แล้วที่เป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบได้มากที่สุด จะมีอยู่ 3 ปัจจัยหลักๆ คือ
- ความผิดปกติทางสมอง เกิดจากความผิดปกติของสมอง หรือเรียกว่ากลุ่มออทิสติก (Autism Spectrum Disorders ; ASD) ผู้ที่มีความผิดปกติทางสมองนี้มักมีปัญหาทางประสาทสัมผัสร่วมด้วย และมีความไวต่อการสัมผัสบางอย่าง เช่น ความไวต่อการได้ยินเสียง
- มีความทรงจำไม่ดีในวัยเด็ก ปัจจัยที่ทำให้เรากลัวเสียงฟ้าร้องได้ อาจเกิดจากความทรงจำที่ไม่ดีในช่วงวัยเด็ก อย่างเช่นรู้สึกกลัวเสียงฟ้าร้องในวัยเด็ก อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่ทำให้รู้สึกกลัวจนถึงปัจจุบัน
- ประสบอุบัติเหตุ การประสบอุบัติเหตุจากสภาพอากาศหรือในช่วงที่ฝนตก ประสบการณ์เหล่านี้ก็สามารถทำให้กระทบต่อสภาพจิตใจและเจ็บปวดจากสภาพอากาศที่รุนแรงจนส่งผลให้รู้สึกกลัวเมื่อคิดว่าต้องเผชิญกับสถานการณ์นั้นอีกครั้ง
ไม่ต้องกังวล! กลัวเสียงฟ้า รักษาได้
โรคกลัวเสียงฟ้าร้องมีวิธีการรักษาหลายรูปแบบทั้งการใช้บำบัดจิตและการกินยา โดยวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล เช่น
- การบำบัดจิต (CBT) เป็นการบำบัดอีกรูปแบบหนึ่งของจิตบำบัด ทำแบบตัวต่อตัวกับนักบำบัด เป็นการรักษาที่เปลี่ยนความคิดเชิงลบและแทนที่ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลมากขึ้น เช่น ให้การเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย , เรียนรู้และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพ เพื่อมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
- การบำบัดด้วยการสัมผัส (Touch Therapy) การบำบัดด้วยการสัมผัสเป็นหนึ่งในประเภทของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม โดยหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะรักษาโดยการให้ผู้ป่วยค่อยๆ เผชิญหน้ากับความกลัวทีละน้อย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเคยชิน
- การยอมรับและการให้พันธสัญญา (Acceptance and Commitment Therapy ; ACT) แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทำการบำบัดผู้ป่วยโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกสติ และฝึกให้ยอมรับตัวเองจากสถานการณ์นั้นๆ
- รักษาโดยการใช้ยา เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ความเครียด เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยาบูสไพโรน (Buspirone) ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics) เป็นต้น
ช่วงหน้าฝนแบบนี้ถ้าใครที่รู้สึกว่าเมื่อฝนเริ่มตกหรือได้ยินเสียงฟ้าผ่าดังๆ แล้วรู้สึกวิตก กลัว หรือกังวลมากกว่าปกติ ก็ต้องลองเช็คตัวเองกันหน่อย หรือถ้าไม่แน่ใจการเดินเข้าไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะดีที่สุด