แพ้ถุงยางอนามัย อาการแบบนี้มีด้วยหรอ
มีด้วยหรออาการ “แพ้ถุงยาง” หลายคนอาจไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับอาการนี้เพราะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่จะพบได้ แต่ขอบอกเลยว่าอาการแพ้ถุงยาง...มีอยู่จริง! และเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและชายเลยด้วย
แพ้ถุงยาง อาการเป็นยังไง?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการคันหลังกิจกรรมรักและใช้ถุงยางคุมกำเนิด นั่นอาจเป็นหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจแพ้ถุงยางอนามัย ซึ่งคนที่มีอาการแพ้ส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้ “ยางพารา” ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention สหรัฐอเมริกา พบว่ามีคนที่แพ้ยางพาราราว 1-6% เพราะยางพาราผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนประกอบของโปรตีนบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในบางคนได้ โดยอาการแพ้จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. อาการแพ้ไม่รุนแรง (Allergic reaction) จะสังเกตได้ว่าภายใน 24 ชั่วโมง มีอาการแดง คัน มีผื่น บวม หรือมีผื่นคล้ายลมพิษ ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณที่สัมผัสโดนถุงยางโดยตรงเท่านั้น
2. อาการแพ้ปานกลาง (Anaphylactoid reaction) อาการจะเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่ายกาย เช่น ผื่นแดง บวม ในบริเวณที่ไม่ได้สัมผัสกับถุงยาง น้ำมูกไหล ตาแฉะ ระคายในลำคอ ซึ่งอาการเหล่านี้มีโอกาสเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเยื่อเมือกในช่องคลอดมีความสามารถในการดูดซึมโปรตีนจากยางพาราได้ดีกว่าเยื่อบุบริเวณเจ้าโลกของคุณผู้ชาย
3. ภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) มีอาการหายใจไม่สะดวก กลืนไม่ลง หน้าบวม คอบวม ปากบวม ซึ่งจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ในกรณีนี้หากมีอาการควรพบแพทย์โดยด่วน
แพ้ถุงยางอนามัย เกิดจากอะไรกันแน่?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอาการแพ้ถุงยางอนามัยเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลักคือ
1. แพ้ยางพารา (Latex Allergy)
ถุงยางที่ขายอยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่ล้วนผลิตจากยางพารา หรือเรียกว่า Latex Condom เหตุผลที่ยางพาราเป็นที่นิยมก็เพราะนอกจากจะมีราคาถูกแล้ว มันยังสามารถคุมกำเนิดได้ดี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปกติแล้วอาการแพ้ยางพารามักเกิดบนผิวหนัง ทางเดินหายใจ หู และเยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่หากมันถูกแปรรูปมาอยู่ในถุงยางแล้วล่ะก็ โอกาสเกิดอาการผื่นคัน ผื่นแดง หรือเจ็บแสบบริเวณอวัยวะเพศก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน ในกรณีนี้ควรหลีกเลี่ยงด้วยการเลือกใช้ถุงยางทางเลือกที่ไม่ได้ผลิตจากยางพารา ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาแนะนำในบทความนี้
2. แพ้สารเคลือบถุงยาง
ส่วนประกอบในซองนอกจากตัวถุงยางแล้วยังมีสารหล่อลื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานระหว่างมีเพศสัมพันธ์แล้ว ถุงยางบางชนิดยังมีสารฆ่าอสุจิ (Spermicide) เพื่อช่วยคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สำหรับคนที่แพ้ แนะนำให้ลองเปลี่ยนชนิดถุงยาง หรือเลือกถุงยางอนามัยชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของสารฆ่าอสุจิมาลองใช้ดู
ถุงยางทางเลือก สำหรับคนแพ้ยางพารา
ถึงแม้ว่าถุงยางส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะทำจากยางพารา แต่ก็มีถุงยางทางเลือกที่ใช้วัสดุอื่นๆ เช่นกัน
• ถุงยางที่ทำจากพลาสติกโพลียูเรเธน (Polyuretane Condom) จะมีพื้นผิวที่บางกว่ายางพารา ข้อดีคือมันสามารถใช้กับสารหล่อลื่นได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ซิลิโคน ปิโตเลียมเจล หรือน้ำ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และหาซื้อได้ง่าย แต่ข้อเสียคือความยืดหยุ่นของมันจะน้อยกว่ายางพารา และอาจทำให้ฉีกขาดได้ง่ายขึ้น
fsastore
• ถุงยางที่ทำจากยางสังเคราะห์พอลิไอโซพรีน (Polyisoprene Condom) วัสดุชนิดนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับถุงยางที่ไม่ใช้ยางพารา ส่งผ่านความร้อนได้ดีทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติ และยืดหยุ่นมากกว่าโพลียูเรเธน แต่จะใช้กับสารหล่อลื่นได้เฉพาะที่เป็น water based หรือ silicone based เท่านั้น
Shopee and Walmart
• ถุงยางที่ทำจากเยื่อธรรมชาติ (Lambskin Condom) ถุงยางชนิดนี้ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่ผลิตจากลำไส้ส่วนล่างของแกะซึ่งเคยเป็นที่นิยมก่อนที่ Latex condom จะเข้ามาแทนที่ในช่วงปี ค.ศ. 1920 ซึ่งข้อดีของถุงยางชนิดนี้คือสวมใส่สบาย ให้สัมผัสที่ดี ทนทานและสามารถใช้กับสารหล่อลื่นได้ทุกชนิด และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ 98% แต่ข้อเสียคือนอกจากจะหาซื้อยากเพราะไม่มีขายในประเทศไทยแล้ว ที่สำคัญคือลำไส้ของแกะจะมีรูพรุนเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฉะนั้นมันจึงไม่สามารถป้องกันไวรัสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้นั่นเอง
AMAZON
หากอาการแพ้บนผิวหนังทิ้งระยะนานกว่า 1-2 วัน ทางออกที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ามีอาการติดเชื้อหรือเปล่า และเพื่อให้มั่นใจกว่าเดิมสามารถพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้และอิมมูนวิทยา เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดไปเลยว่าเกิดจากอะไรกันแน่