เจาะลึก 5 Steps “Gender Transition” ประสบการณ์จริงเตรียมพร้อมทั้งกายใจจากเขาและเธอ

Health Addict ได้มีโอกาสได้จับเข่าคุยกับคุณชาลี (ชาลี จาตุสว่างพร ) และคุณปูเป้ (ภิญญาพัชญ์ บุญเรือง)  สองท่านที่จะมาแชร์เรื่องราวของการข้ามเพศ หรือการ Transition ลักษณะต่างๆ ของร่างกาย จากเดิมที่เป็นชายและหญิงไปสู่อีกหนึ่งลักษณะของเพศสภาพที่ตรงตามจิตวิญญาณของตัวเองอย่างแท้จริง พวกเขาจะมีวิธีดูแล Mental Health และ Physical Health ให้แฮปปี้ & เฮลธ์ตี้สุดๆ ยังไงบ้าง ไปดูกัน! 


เอาให้เคลียร์ คำนิยามของ “Trans” หรือ “Transgender” คืออะไรกันแน่? 


คำว่า “คนข้ามเพศ” ที่ในภาษาอังกฤษคือ“Transgender”  นั้นหมายถึงการข้ามเพศหรือการแปลงเพศจากเพศกำเนิดที่เดิมเคยเกิดเป็นหญิงหรือชาย ก็เปลี่ยนแปลงร่างกายไปสู่เพศตรงข้ามตามใจหวังอย่างสมบูรณ์แบบ  โดยถ้าผู้หญิงข้ามเพศไปเป็นผู้ชาย จะเรียกว่า Female-to-male transgender (FTM/ F2M) ส่วนผู้ชายข้ามเพศไปเป็นผู้หญิงก็จะเรียกว่า Male-to-female transgender (MTF/M2F) 

ซึ่งจากการพูดคุยกับทั้งสองท่านนี้ ทำให้พบว่าในเชิงจิตวิทยา การเป็นคนข้ามเพศนี้ไม่เหมือนกับการเป็นเลสเบี้ยนและเกย์  เพราะพวกเขาคือผู้ชายและผู้หญิงจากฐานของจิตใจโดยสมบูรณ์ 
 

 “GET TO KNOW 5 STEPS” ความแตกต่างของการ Transition จากหญิงเป็นชาย และชายเป็นหญิง  

การข้ามเพศจากชายไปเป็นหญิง (male to female) และหญิงไปเป็นชาย (female to male) นั้นมีกระบวนการเริ่มต้นที่เหมือนกันก็คือ การเข้าพบจิตแพทย์และการทำแบบทดสอบเพื่อประเมินให้แน่ใจว่าสภาพทางจิตใจและกายนั้นพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่นี้จริงๆ หรือเปล่า

และนี่คือ STEP คร่าวๆ ของการ Transition ในคุณผู้ชายและคุณผู้หญิง

STEP#1 พบจิตแพทย์เพื่อรับการประเมินความพร้อม

คุณชาลีเล่าว่า ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ step แรกของการ transition นั้น คุณหมอจะวินิจฉัยภาวะ Gender Dysphoria ซึ่งก็คือภาวะความไม่พอใจในเพศของตัวเองด้วยแบบทดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การตอบคำถามต่างๆ หรือการเล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟัง ซึ่งทางคุณปูเป้บอกว่า

“คุณหมอจะตรวจอย่างละเอียดลึกไปถึงขั้นของสัญชาตญาณความเป็นเพศที่เรากำลังจะเปลี่ยนไปเป็น  เช่น  ให้ดูภาพ abstract แล้วถามว่ามองเห็นภาพเหล่านั้นเป็นอะไร  ถ้าเราเห็นเป็นผีเสื้อก็บอกไปตามที่เห็น อย่าโกหกเพราะไม่มีคำว่าผิดถูก”

ตัวอย่างภาพ abstract จาก Dr.  Nicole Thomas

... ซึ่งถ้าผลสอบออกมาว่า คนๆ นั้นมีสภาพจิตใจที่อาจยังไม่พร้อม และยังมีความเป็นเพศเดิมมากกว่า คุณปูเป้ก็บอกว่าหมอจะตัดสินไม่ดำเนินการ transition ให้เลย  โดยการประเมินนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการป้องกันแนวโน้มของการเปลี่ยนใจกระทันหัน เช่น อยากกลับไปเป็นเพศเดิมหลังจาก Transition ไปแล้ว
 

STEP#2  GET READY! ให้พร้อมสำหรับการ Transition

การเตรียมตัวนั้นไม่ยุ่งย่างมาก คุณชาลีเล่าว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการ transition เขาจะต้องดูแลไม่ให้น้ำหนักตัวเยอะ เพราะน้ำหนักตัวที่มากอาจมีส่วนทำให้ T-hormone (Testosterone Hormone Therapy) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เขาจะต้องเทคไปสร้างปัญหาให้กับร่างกายได้

 “พอสอบการประเมินผ่านแล้ว ผมก็เข้าพบหมอสูตินรีแพทย์ต่อ  ซึ่งคุณหมอจะอธิบายข้อดีข้อเสีย และ side effect ต่างๆ ที่อาจเกิดกับร่างกายในช่วงเทคฮอร์โมน  อย่างการเกิดสิว รวมถึงโดสที่เราต้องเทค และระยะเวลาในการเทคฮอร์โมนก่อนที่จะนัดวันตรวจเลือดให้”

ทางด้านของคุณปูเป้ เธอบอกว่าหลังสอบผ่าน ก่อนที่จะมีการ transition หมอจะเช็กร่างกายก่อน และก่อนการผ่าตัดก็จะสั่งให้เลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้ขับถ่ายง่าย  เช่น ผัก ผลไม้ หรือการทานบุฟเฟต์ที่มีผักเยอะๆ 

หลังแปลงเพศเราห้ามถ่ายเลยอย่างน้อย  5 วัน และจะทานแต่น้ำแดงกับอาหารอ่อนๆ ช่วง 1-4 วันแรกเดินไปไหนไม่ได้นอนติดเตียงตลอด  พอเข้าวันที่ 5 หมอจะเอาสายเดินเลือดออกเพื่อให้ไปปัสสาวะ  ถ้าปัสสาวะได้ก็ถือว่าสำเร็จเตรียมตัวกลับบ้านได้ แล้วก็สั่งว่าช่วง 3 เดือนแรกต้องใช้แท่งโมสอดเข้าอวัยวะเพศเพื่อไม่ให้รูที่ผ่าตัดนั้นตีบ”
 

STEP#3  TAKE HORMONE และสังเกตร่างกาย


การเทคฮอร์โมนทดแทนสำหรับ transgender ทั้งชายและหญิงนั้นจะเรียกเหมือนกันว่า HRT (Hormone Replacement Therapy)  ถ้าในกรณีของคุณชาลี หากเรียกการเทคฮอร์โมนแบบเฉพาะเจาะจง ก็จะเรียกว่า  Testosterone Hormone Therapy  หรือ Transmasculine hormone therapy  “ฮอร์โมนที่เทคคือ ‘เทสโทสเทอโรน’  เป็นฮอร์โมนเพศชายที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ โดสอยู่ที่ 150 มิลลิกรัมทุกๆ 3 วีค อันนี้จะแล้วแต่ร่างกายของแต่ละคน ในช่วงสองเดือนแรกร่างกายก็เริ่มปรับตัวได้แล้ว  เพราะเสียงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นผู้ชายมากขึ้น”


  ซึ่งการเทคฮอร์โมนนี้คุณชาลีบอกว่าจะต้องเทคไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าอายุจะเข้า 60 ปีแล้วฮอร์โมนคงที่ โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากกรณีที่ต้องฉีดด้วยตัวเองก็จะต้องได้รับการพิจารณาโดยแพทย์ก่อนเช่นกัน  ซึ่งบริเวณที่ฉีดจะเป็นตรงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) คือกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว  แขน และขา 

หน้าที่ของ T-Hormone คือมันเปลี่ยนไขมันให้ไปเป็นกล้ามเนื้อ รู้สึกได้เลยว่าร่างกายเริ่มมีกล้ามคล้ายผู้ชายโดยที่ไม่ได้เวิร์คเอาท์เพิ่ม” 

ส่วนกรณีของคุณปูเป้เธอเลือกการทานฮอร์โมนเอสโทรเจนชนิดเม็ดแทนการฉีด จะเรียกกระบวนการนี้ว่า  ERT (Estrogen Replacement Therapy) ซึ่งเธอสารภาพว่าไม่ได้เข้มงวดกับตัวเองเท่าไหร่  เพราะจะเลือกทานเดือนเว้นเดือน

=>SIDE EFFECT เทคฮอร์โมนแล้วอันตรายจริงหรือเปล่า ?
หลักๆ ที่ทั้งคู่บอกเราคือ side effect จากการเทคฮอร์โมนนั้นจะมากับอารมณ์สวิง ฉุนเฉียวหรือบางครั้งก็ร้องไห้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้มันก็ไม่ได้มีผลให้เกิดภาวะอันตรายหรือน่ากลัวอะไร  แต่ต้องท่องให้ขึ้นใจว่าคุณต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น! เพราะการเทคฮอร์โมนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะทานหรือฉีด ก็ล้วนอาจเสี่ยงที่ทำให้ตับและปริมาณไขมันในเลือด หรือระบบร่างกายนั้นมีปัญหาได้

 

STEP#4  Break Stereotype “การมีจุดยืนของตัวเองนั้นสำคัญ


ถ้าต้องพูดคำว่า “because everything comes with a price” กับเคสนี้ก็คงจะพูดได้เต็มปาก เพราะมันหมายความว่า หากคุณเลือกที่จะเป็นคนข้ามเพศแล้ว คำแนะนำที่ทั้งคู่อยากบอกก็คือ…คุณต้องมีจุดยืนและยอมรับว่ามันอาจจะทำให้คุณแฮปปี้หรือไม่แฮปปี้ก็ได้ เช่น การสมัครงานก็ควรเลือกสมัครในที่ที่สังคมเปิดกว้างไปเลยดีกว่า เพราะมันก็คุ้มค่าที่คุณจะเสียเวลาค้นหาเพื่อแลกกับการล้อมรอบด้วยสังคมที่เป็นบวก นอกจากนี้คุณจะต้องยอมรับที่จะถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคม…แน่นอนว่าการเตรียมใจให้สตรองและมีความสุขกับคนรอบตัวที่รักคุณนั้นเป็นวิธีแก้ที่ช่วยให้มองข้ามทุกอุปสรรคในชีวิตนี้ไปได้จริงๆ  

 

STEP#5 BE HAPPY & HEALTHY


เรื่องของการดูแลตัวเอง คุณชาลีบอกว่าคุณหมอจะแนะนำให้ “เลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์” เพราะการเทค testosterone  hormone  เข้าสู่ร่างกายจะไปทำให้ตับทำงานเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง นั่นก็จะยิ่งทำให้ตับทำงานหนักมากขึ้นจนเกิดอันตรายได้  ส่วนเรื่องการทานอาหารคุณชาลีบอกว่าตนสามารถทานทุกอย่างได้ตามปกติ ถ้าเป็นการออกกำลังกายก็จะใช้วิธีการเล่นเวทหรือยกเวทอาทิตย์ละ 3 วัน ประมาณ 1-2 ชม. ต่อด้วยการทาน Mass Gainer เวย์โปรตีนควบคู่ไปเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว   ด้านคุณปูเป้เธอก็จะดูแลตัวเองด้วยการคาร์ดิโอ ลดแป้ง และทานอาหารในปริมาณที่ร่างกายต้องการเท่านั้น  
 
  • ถ้าอยากข้ามเพศควรเริ่มตอนไหน ?
เราขอแนะนำให้เป็นช่วงที่คุณสามารถทำการตัดสินใจเองได้ นั่นก็คือตั้งแต่ช่วงอายุ 24 ปีขึ้นไป และควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเพื่อตรวจสอบภาวะเสี่ยงต่างๆ เช่น กรณีมีโรคประจำตัว ซึ่งหากมีความเสี่ยงต่างๆ ที่อันตรายต่อชีวิต แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้คุณทำการ transition 
อ่านมาถึงตรงนี้เป็นยังไงกันบ้าง? หากคุณสนใจอยากไปติดตามเรื่องราวของพวกเขาเพิ่มเติมหรือเพื่อส่งกำลังใจ  ก็สามารถเข้าไปส่องและให้กำลังใจกันได้ตามช่องทางนี้เล้ยย!
 

คุณชาลี 
 Youtube Channel:  
ChomChatus  

คุณปูเป้ 
 IG :   
pupaepinyapatch   

------------------------------------------------------------------ 

การแปลงเพศไม่ใช่แค่อยากมีแฟนเป็นผู้ชาย แต่มันคล้ายกับการทำให้ร่างกายตรงกับจิตวิญญาณของการเป็นเพศหญิงมากที่สุด ไม่มีแฟนก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะใจแค่อยากเป็นผู้หญิง”-ปูเป้
 
 
-->