Malala Yousafzai ทูตสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลก

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเธอคนนี้เป็นใคร เธอคือ "มาลาลา ยูซาฟไซ" นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงชาวปากีสถานที่ได้รับการแต่งตั้งจาก UN ให้เป็นทูตสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด เธอกล้าจะต่างและพร้อมจะสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมในด้านการศึกษาในเด็กผู้หญิงบนพื้นที่ปากีสถานที่เต็มไปด้วยกองกำลังติดอาวุธ เธอก้าวข้ามออกจากกรอบของตาลิบันที่วางไว้ เธอเรียนหนังสือ เธออ่านหนังสือ เธอเขียนหนังสือ เธอไปโรงเรียน เธอกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ควรพูด กล้าทำในสิ่งที่ควรทำ ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตก็ตาม 

ย้อนไปเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นเป็นช่วงที่ตาลิบันเริ่มล้มล้างสถาบันของรัฐ และเผาโรงเรียนสตรีไม่น้อยกว่าร้อยโรงโดยอ้างว่าขัดต่อการสอนของศาสนาอิสลามที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นเธออายุได้ 11 ปี มาลาลาได้ไปร่วมงานชุมนุมที่เมืองเปชวาร์ เพื่อร่วมต่อต้านการโจมตีโรงเรียนสตรีของตาลิบันกับพ่อของเธอ ซึ่งเธอได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "How Dare the Taliban Take Away My Basic Right to an Education" เธอเริ่มมีชื่อเสียงผ่านบล็อกที่เธอเขียนให้กับบีบีซี โดยใช้นามปากกาว่า "กุล มาไค" เธอเล่าประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่ถูกตาลิบันควบคุมแลัจำกัดสิทธิสตรีต่างๆ เช่น ห้ามผู้หญิงแต่งกายสีฉูดฉาด ห้ามเดินตลาด ห้ามไปโรงเรียน และหลังจากนั้นเธอก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผ่านรายการทีวีที่ต่อต้านตาลิบัน นิวยอร์ก ไทม์เองก็ได้ถ่ายทำสารคดีชีวิตของเธอ เธอได้เป็นประธานของสภาเด็กแห่งเขตสวัดที่เธออยู่เพื่อเรียกร้องอิสรภาพทางการศึกษาให้เกิดขึ้นทั้งในปากีสถานเองและในเวทีโลกซึ่งนั่นทำให้เธอตกเป็นเป้าสังหารของตาลิบัน
 

Photo Credit: www.Infotel.ca


4 ปีต่อมา เธอเคยถูกยิง 2 นัดที่ศีรษะและลำคอโดยมือปืนตาลิบันระหว่างทางกลับจากโรงเรียน แต่ยังโชคดีที่เธอรอดมาได้ และหลังจากนั้นเธอก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ ตลอดเวลาเธอต้องเผชิญกับคำขู่จากนักรบตาลีบันว่าเมื่อไหร่ที่เธอกลับไปเหยียบปากีสถานอีกครั้ง เธอจะไม่มีโอกาสที่สองที่จะได้ต่อลมหายใจ แต่แม้ว่าจะเฉียดตายมาแล้ว นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของเธอลดลง เธอก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางด้านการศึกษาให้กับเด็กผู้หญิงชาวปากีสถานต่อไป "หยิบหนังสือของเราและปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ทรงอานุภาพมากกว่าอาวุธ เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม ปากกาหนึ่งด้าม สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้" นี่คือส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ที่เธอได้พูดบนเวทีโลก เธอจัดตั้งกองทุน สร้างโรงเรียน และทำทุกๆ เพื่อผลักดันให้เกิดโอกาสของการศึกษา
 

Photo Credit: www.malala.org


และจากการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่น นั่นทำให้เธอได้รับรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชาติ ในปี 2011 ได้รับเลือกเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอันดับสองแห่งปี 2012 จากนิตยสารไทม์ ได้รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของผู้หญิงนานาชาติในปี 2013  และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะผู้เรียกร้องสิทธิในการได้รับการศึกษาของเด็กและสตรี ในปี 2014
 
และล่าสุดเธอได้มีโอกาสกลับไปที่บ้านเกิดที่เมืองสวัดอีกครั้ง  

Photo Credit: www.theaustralian.com
 

เราเชื่อว่าเรื่องราวของมาลาลา จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆ คน ว่าการเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็สามารถสร้างพลังบวกที่มีอิทธิพลต่อโลกทั้งใบได้เหมือนกัน แล้ววันนี้คุณได้ทำอะไรดีๆ บ้างหรือยัง ?


 

-->