ตาขี้เกียจในเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ก่อนสายเกินแก้

“ตาขี้เกียจ” ไม่ใช่ ตาล้า อ่อนเพลีย ดูง่วงตลอดเวลาเหมือนคนที่เพิ่งตื่นเช้าวันจันทร์แต่อย่างใด แต่คือโรคๆ หนึ่ง ที่เกิดความผิดปกติกับดวงตา 1 ข้าง หรือทั้งสองข้างก็ได้ และส่วนมากมักสังเกตได้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ



ตาขี้เกียจ หรือสั้นๆ ตรงๆ ตัวเรียกว่า Lazy eye  เป็นอาการที่ตามองเห็นได้แย่มากจนสมองปิดการรับรู้จากตาข้างนั้นไป ซึ่งสามารถเกิดได้กับตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง และหลังจากที่สมองปิดการรับรู้ไปก็จะเอาความสามารถไปพัฒนาประสาทสัมผัสด้านอื่นแทน พอไม่ได้ใช้ตาข้างนั้นบ่อยๆ กล้ามเนื้อและประสาทตาไม่ได้ถูกกระตุ้น การมองเห็นจึงแย่ลง

และสิ่งที่น่ากลัวคือโรคตาขี้เกียจพบได้ในเด็กเล็กตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบไปจนถึง 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่ตาของเด็กกำลังพัฒนา ซึ่งพบได้ประมาณ 2 - 5% ในเด็กช่วงอายุเท่านี้ และเป็นช่วงที่พ่อแม่ควรพาเด็กมาตรวจสายตากับจักษุแพทย์เป็นครั้งแรก แต่ถ้าพ่อแม่สงสัยว่าเด็กมีตาผิดปกติก่อนหน้านั้นก็พามาพบแพทย์ก่อนได้เลย 

และเลวร้ายสุด ถ้าไม่รีบรักษาก่อนอายุ 9 ปี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนรักษาไม่ได้อีก และการมองเห็นจะลดลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ซึ่งจะพบตาบอดถาวรได้ในผู้ใหญ่ที่เป็นตาขี้เกียจประมาณ 2.9% แม้ตัวเลขอาจจะดูน้อย แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ แนะนำว่าอย่าละเลยอาการตาขี้เกียจดีกว่า เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นต์ในนั้นอยู่ดี

ตาขี้เกียจ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
โรคตาขี้เกียจนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก เช่น

1. มีค่าสายตาสั้นหรือยาวจำนวนมากๆ
ซึ่งแบ่งได้ทั้งค่าสายตาเยอะแบบข้างเดียว และแบบสองข้าง แบบข้างเดียวคือเมื่อสายตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งค่าสายตาเยอะกว่าอีกข้าง สมองจะปรับไปใช้งานตาข้างที่เห็นได้ชัดแทน ทำให้อีกข้างหยุดการใช้งานไป กลายเป็นตาขี้เกียจข้างเดียว ส่วนแบบสองข้างคือค่าสายตาทั้งสองข้างเยอะทั้งคู่ สมองจึงลดการใช้งานทั้งสองข้างลง หันไปพัฒนาประสาทสัมผัสอย่างอื่นแทน จึงทำให้เป็นตาขี้เกียจแบบสองข้าง

2. ตาเหล่ ตาเข
มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีภาวะตาเหล่จะเป็นตาขี้เกียจ และมักเกิดโรคในคนที่ตาเหล่ข้างเดียวเท่านั้น เป็นเพราะว่าคนที่เป็นตาเหล่ทั้งสองข้าง เมื่อจะมองอะไรก็ตาม ตาข้างหนึ่งจะโฟกัสแทน ส่วนอีกข้างจะเหล่ ซึ่งจะใช้สายตาทั้งสองข้างสลับกันใช้งานไปมา แต่ในเด็กที่ตาเหล่ข้างเดียว สมองจะปรับไปใช้งานข้างที่ปกติแทน ส่วนข้างที่เหล่สมองก็จะไม่สนใจจนหยุดพัฒนากลายเป็นตาขี้เกียจ และหากเป็นตาเหล่ข้างเดียวในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีและไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ตอนนั้น สมองจะไม่เกิดการพัฒนาการรับรู้แบบสามมิติขึ้น ต่อให้รักษาตาขี้เกียจหาย สมองจะไม่สามารถรับภาพเป็นสามมิติได้ ผู้ป่วยจะทำได้แต่รับรู้มิติลึกจากความเข้มของแสงเงาเท่านั้น ซึ่งนี่ถือเป็นงานยากของพ่อแม่ที่ควรสังเกตภาวะตาเหล่ของลูกตั้งแต่ยังเล็ก

3. หนังตาตก
ในเด็กเองก็เป็นหนังตาตกได้ไม่แพ้ผู้สูงอายุ อาจเป็นได้ทั้งสองข้างหรือข้างเดียว มักเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ดึงหนังตาให้ลืมตาไม่พัฒนา ลักษณะภายนอกเลยดูเหมือนหน้าง่วงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพอหนังตาตกปิดดวงตาทั้งสองข้าง การมองเห็นก็จะแย่ลง ลูกตาไม่ได้รับการกระตุ้นให้ใช้งานเต็มที่ ส่งผลให้เกิดตาขี้เกียจทั้งสองข้างได้นั่นเอง

4. โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการมองเห็น และการส่งกระแสประสาทผิดปกติ
โรคอื่นๆ ที่ทำให้ดวงตามองเห็นไม่ชัด อย่างเช่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด เลนส์ตาผิดปกติ หรือจอประสาทตาเสื่อมในเด็ก รวมถึงโรคหรือภาวะที่เกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทตาผิดปกติ ทำให้สมองรับภาพได้ไม่เต็มที่เช่นกัน



จะสังเกตลูกยังไงดี ว่ากำลังเสี่ยง ‘ตาขี้เกียจ’
การสังเกตสามารถแยกแยะได้ตามสาเหตุของโรค หากเป็นตาเหล่ ตาเข สามารถสังเกตได้จากลักษณะการมอง การพักตา อาการตาดำขาวขุ่นที่เป็นลักษณะของต้อตา หรือแม้แต่ภาวะหนังตาตกที่มองเห็นได้ชัดเจน

แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ที่สังเกตได้ยากเช่นกัน โดยต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมเด็กแทน เช่น ชอบหรี่ตามองไกลๆ เพ่งมองบางอย่างนาน ต้องเอียงคอมอง ปิดตาข้างหนึ่งเพื่อให้เห็นชัดขึ้น ตาล้า ปวดหัวบ่อยๆ

หรือวิธีที่สังเกตได้ง่ายกว่านั้น ในกรณีเด็กเล็กให้ปิดตาข้างหนึ่งแล้วนำของกินหรือของเล่นที่ชอบมาล่อขยับไปมา หากเด็กมองตามถือว่าตาปกติ ถ้าไม่มองตาม ไม่ตอบสนอง หรือเหมือนมองไม่ค่อยเห็น สันนิษฐานว่าอาจเป็นตาขี้เกียจได้

ตาขี้เกียจ เป็นแล้วรักษาอย่างไร?
ตอบตามตรงการผ่าตัดก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แต่ไม่ใช้วิธีการเดียวที่ใช้รักษาได้ เพราะยังมีวิธีอื่นๆ อย่างเช่น การใช้แว่นสายตา เพื่อลดค่าสายตาที่เยอะเกินไป หรือการปิดตาข้างที่ดีในกรณีที่เริ่มมีตาเหล่หรือเป็นตาขี้เกียจแล้ว การปิดตาข้างที่ดีจะบังคับให้ใช้งานตาข้างที่แย่ ซึ่งควรปิดตาอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาสองข้างจะเท่ากันปกติ ส่วนการผ่าตัดมักใช้ในกรณีตาขี้เกียจที่เกิดจากต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นตา หนังตาตก ซึ่งควรบำบัดควบคู่กับการฝึกพัฒนาการมองเห็นในตาข้างที่ไม่ดีไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วกุมารแพทย์จะตรวจการมองเห็นในเด็กไปพร้อมๆ กับตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตรวจสุขภาพ พ่อแม่ก็อาจสังเกตความผิดปกติของสายตาในเด็กได้ และควรพามาตรวจกับจักษุแพทย์อีกที และแนะนำให้เด็กมาตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 3 - 5 ปี
-->