‘ไขมันพอกตับ’ ไม่ดื่มเหล้า ก็เสี่ยงได้
ใครที่เคยเข้าใจผิดว่า ‘ไขมันพอกตับ’ เป็นโรคของกลุ่มนักดื่ม สายปาร์ตี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ใช่สายดื่มก็คงรอด งานนี้ต้องมาเคลียกันหน่อย เพราะว่าความจริงแล้วไม่ต้องมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงก็เป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน เพราะโรคนี้มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนทำงานอย่างเราๆ นี่แหละ ยิ่งใครที่ชอบทานของทอดของมัน ไม่เคยระวังเรื่องอาหารและออกกำลังกาย รู้มั้ยว่าคุณนั่นแหละที่กำลังทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงของการเกิด ‘ไขมันพอกตับ’
ไขมันพอกตับ...โรคนี้คืออะไร?
ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ได้อธิบายไว้ว่า ไขมันพอกตับ หมายถึงการสังเคราะห์ไขมันในตับมีความผิดปกติ ทำให้ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์ที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับมีน้ำหนักเกิน 5% ของตับ ซึ่งจะทำให้ตับทำงานผิดปกติ และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นตับแข็งได้ในที่สุด ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคนี้นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ ตั้งแต่การดื่มแอลกฮออล์ โรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน หรือตับอักเสบจากไวรัส รวมไปถึงการขาดสารอาหาร หรือการทานยาบางอย่างก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้เช่นกัน
ไม่ใช่นักดื่ม (แอลกอฮอล์)...ก็เสี่ยงไขมันพอกตับได้
อย่างที่บอกไปว่าสาเหตุของการเกิดไขมันพอกตับนั้นมีมากมาย ไม่ใช่เฉพาะแต่การดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เพราะคนที่ไม่ดื่มก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน โดยไขมันพอกตับชนิดนี้จะเรียกว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) หรือ Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH) ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีภาวะไขมันโดยเฉพาะไตรกรีเซอร์ไรด์อยู่ในเซลล์ตับในปริมาณมาก ที่ทำให้เกิดอาการตับอักเสบ และสามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็งได้
เมื่อไม่แสดงอาการ...ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว
ต้องบอกก่อนว่า อาการของภาวะไขมันพอกตับที่เราเพิ่งพูดไปนั้น มักจะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ อาจจะมีแค่ปวดแน่นแถวชายโครงข้างขวามาเรื่อยๆ แบบเนียนๆ แต่ก็มีบางคนที่อาจตรวจเจอว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไขมันในเลือดสูงได้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเพื่อให้รู้ผลอย่างแน่ชัด โดยอาจจะเริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียด ถึงประวัติพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ การทานยา การดื่มแอลกอฮอล์ มีประวัติการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมาหรือไม่ รวมไปถึงการเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ ระดับน้ำตาลและภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน ตรวจ CT scan หรือแม้แต่เจาะชิ้นเนื้อที่ตับไปตรวจพยาธิวิทยา
ถ้าเจอแจ๊คพ็อตแล้วว่า ‘เป็น’ ต้องรักษายังไงต่อ
สำหรับวิธีรักษาไขมันพอกตับนั้นมีอยู่หลายทาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำแค่ทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคนอาจมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน เช่น
+ ในผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับในผู้ป่วยดีขึ้น เพราะคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูง มีโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้สูงถึง 90%
+ บางคนอาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก หรือศัลยกรรมโรคอ้วนซึ่งทำให้ผู้ป่วยประมาณ 92% มีไขมันสะสมภายในตับลดลง 81% มีอาการดีขึ้น 66% พังผืดลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการผ่าตัดก็เหมาะกับผู้ป่วย NAFLD ที่มีโรคอ้วนในระดับรุนแรง และไม่เหมาะกับกลุ่ม NAFLD ที่เกิดตับแข็ง
+ การออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธี โดยอาจจะออกในลักษณะของแอโรบิก ยืดเหยียดวันละ 30-45 นาที วีคละ 5 วันก็ได้
+ ในผู้ป่วยบางกลุ่มแพทย์อาจรักษาโดยให้ยา เพื่อรักษาตามอาการของโรคแทรกซ้อนจากไขมันพอกตับ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือยารักษาโรคเบาหวานเป็นต้น
เห็นมั้ยว่า บางครั้งการดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรคได้ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงความผิดปกติของระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้แบบไม่รู้ตัว และยิ่งถ้าเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการด้วยแล้ว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจจะสายเกินไป เพราะฉะนั้นหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี และอย่าลืมที่จะไปตรวจเช็คสุขภาพโดยละเอียดทุกปี หากเจอความผิดปกติเกิดขึ้น จะได้รักษากันได้อย่างทันท่วงที