ไข้หวัด...ทำไมโรคนี้ชอบมากับ 'หน้าฝน'
เป็นช่วงที่พายุกำลังเข้ามากระหน่ำกันอีกแล้ว มันเลยทำให้เรานึกไปถึงความเชื่อที่ได้ยินมาว่า “หน้าฝนมักจะมากับโรคไข้หวัด” ซึ่งเราอยากจะบอกว่าจริงๆ แล้วตัวฝนเองนั้นไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นเพราะอุณหภูมิของร่างกายที่ต่ำลง 1-2 องศาเซลเซียสต่างหาก ที่เป็นเหตุให้ไวรัส และแบคทีเรียนเจริญเติบโตได้ดีกว่าตอนที่ร่างกายเราอยู่ในอุณหภูมิที่ปกติ ซึ่งบางคนก็เลือกที่จะกินยาดักเพื่อป้องกันการเป็นหวัดหรือไข้โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือความเชื่อที่ผิดและไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์
หวัดคือสิ่งใกล้ตัว
มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเชื้อไวรัสคือสิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยอยู่รอบตัว การหายใจเข้าทุกครั้งก็เหมือนการรับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไป ซึ่งถ้าร่างกายเราแข็งแรงและมีภูมิต้านทานที่ดีก็ไม่มีอาการเจ็บป่วย พญ.ศาธิณี ลิมปิสุข แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่แล้วสัดส่วนการติดเชื้อจากไวรัสจะมีมากกกว่าแบคทีเรีย และมักเกิดจากเชื้อไวรัส Rhinoviruses มากถึง 80%
หวัดจากไวรัส vs แบคทีเรีย ... มีอาการไม่เหมือนกัน
นพ. ดาวิน นารูลา แพทย์อายุรกรรม จากศูนย์อายุรกรรมทั่วไป รพ. สุขุมวิท เล่าให้ฟังว่าอาการเบื้องต้นจากการเป็นหวัดจากเชื้อไวรัสคือการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอและต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นเองใน 5-7 วัน โดยไม่ต้องทานยาปฏิชีวนะ ที่สำคัญจะต้องดูแลร่างกายให้ดีและหมั่นกลั้วคอให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งถ้าระบบภูมิคุ้มกันเรายังไม่ดีขึ้นเหล่าบรรดากองทัพแบคทีเรียที่ชื่อว่า สเตรปโตคอคคัสกรุ๊บเอ ( group A streptococci ) ซึ่งพบเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง นับเป็นร้อยละ 20-30 จะเข้าจู่โจมโดยทันที นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยที่อธิบายไว้ว่าหลังจากที่รับเชื้อแบคทีเรีย อาการที่จะบ่งชี้ว่าเม็ดเลือดขาวเราพ่ายแพ้คือ ทอลซิลจะเริ่มมีจุดขาวหรือที่เราเรียกว่าคอเป็นหนอง เมื่อถึงจุดนั้นแล้วสิ่งที่ทำได้คือยกธงขาวและเข้าพบแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุดเพราะบ่อยครั้งที่จะมีอาการไข้หรือตัวร้อนร่วมด้วย
พาราเซตามอลหรือยาลดไข้ คือตัวเสริมทัพเม็ดเลือดขาว
เมื่อร่างกายมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เหล่าบรรดาเม็ดเลือดขาวที่แสนรู้งานจะรีบดาหน้าออกมาปราบ ระหว่างการต่อสู้นั่นเองส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงเกินมาตรฐานที่ซึ่งไม่ควรเกินกว่า 37.4 องศาเซลเซียส เมื่อทานยาลดไข้เข้าไป ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอาการปวด และจะชักนำให้เกิดกลไกให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แต่ถึงอุณหภูมิร่างกายลดลงก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายเราจะชนะอาการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เรายังคงต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลอาการอย่างถูกต้อง
ไปหาหมอแล้วไม่ได้ยา...ใช่ว่าหมอจะรักษาไม่ดี
หลังจากอายุรแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยว่าเป็นเพียงแค่การติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ในทางปฏิบัติก็จะให้ยาตามอาการ ยกตัวอย่างเมื่อมีไข้ก็ให้ยาลดไข้แล้วให้ผู้ป่วยกลับบ้านพักฟื้น แต่ตัวคนไข้เองมักจะรู้สึกต่อต้านค้านในใจว่าทำไมถึงได้ยาแค่นี้ ก่อนกลับบ้านก็ขอแวะซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะกินหน่อย แต่หารู้ไม่ว่ายาเหล่านั้นคือกลุ่มยาเดียวกัน และจะไม่มีผลในการรักษาใดใดหากร่างกายไม่มีการติดเชื้อจากแบคทีเรีย พูดง่ายๆ คือคนไข้ที่เก่งกว่าหมอจะเสียเงินฟรีและอาจจะเกิดการดื้อยาต่อมา โดยมีผลวิจัยจากกระทรวงสาธารณสุข แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 ว่าประชากรไทยเสียชีวิตจากภาวะดื้อยาโดยเฉพาะในกลุ่มยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือที่เรียกง่ายๆ ว่ายาปฎิชีวนะประมาณปีละ 38,000 คน ซึ่งคิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูง ถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
รู้หรือไม่? ยาแก้อักเสบมี 2 ชนิด
ยาแก้อักเสบตามหลักการแพทย์แล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่รักษาอาการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มที่ใช้รักษาเมื่อมีอาการติดเชื้อคือกลุ่มยาเดียวกันกับยาปฏิชีวนะ หากร่างกายไม่มีการรับเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มยานี้จะออกฤทธิเท่ากับยาแก้ปวดธรรมดา และเมื่อทานแล้วจะต้องทานให้ครบโดสหรือทานจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการดื้อยาในอนาคต สำหรับกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียคือกลุ่มยาที่รักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบทั่วไป สามารถหยุดทานได้เมื่ออาการหายดีแล้ว
Vitamin C มีไว้ป้องกัน ไม่ใช่รักษา
หลายคนยังมีความเชื่อว่าเมื่อป่วยเป็นหวัดหรือไข้ การกินวิตามินซีทั้งรูปแบบน้ำหรือเม็ดจะช่วยให้อาการหายได้ไวขึ้น แท้จริงแล้วถึงแม้ว่าวิตามินซีจะมีสรรพคุณในการเสริมสร้างภูมิคุ้นกันในร่างกาย แต่การปล่อยให้เกิดการติดเชื้อแล้วค่อยมากินก็ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ถูกต้องและได้ผลมากนัก เพราะเราควรรับวิตามินซีอยู่เป็นประจำจากอาหารที่เรากินในแต่ละวันในอัตราอย่างน้อย 1,000 มก. ซึ่งหาได้จากผักและผลไม้ เช่น พริก ผักคะน้า และฝรั่ง แต่ลำพังจะให้กินผักและผลไม้เหล่านั้นเพื่อให้ได้ปริมาณวิตามินซีที่เหมาะสมคงต้องนับกันเป็นเข่ง ดังนั้นการหาตัวช่วยวิตามินซีแบบเม็ดจึงเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุด
ดูเหมือนว่าวิธีป้องกันการเป็นหวัดหรือไข้จะง่ายกว่าการรักษาอยู่พอสมควร ดังนั้นหลังจากการตากฝนสิ่งแรกที่ควรทำคือการอาบน้ำและรีบทำให้ร่างกายอุ่นให้เร็วที่สุด หรือถ้าใครรู้ตัวว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการตากฝน ก็ควรออกกำลังกาย กินวิตามินซีอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย