ไขมันในเลือด...ยิ่งสูง ยิ่งเสี่ยง

“รู้ว่าเสี่ยง แต่คง (ไม่) ต้องขอลอง” จะเป็นอะไรไปได้ถ้าไม่ใช่ “ไขมัน” โดยสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) ได้แนะนำให้จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวที่กินเข้าไปให้น้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน เพราะไขมันยิ่งมีมากเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่ความอ้วนที่จะถามหา แต่ยังมีสารพัดโรคที่ต่อคิวรอสร้างปัญหา ด้วยว่าระดับไขมันในเลือดมีผลกระทบที่สำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตันโดยเฉพาะเรื่องของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ดังนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยง ต้องเลี่ยงไม่ให้สูงนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน



โคเลสเตอรอล vs ไตรกลีเซอไรด์ ตัวไหนที่เป็นไขมันในเลือดกันแน่
ทั้ง “โคเลสเตอรอล” และ “ไตรกลีเซอไรด์” ล้วนแต่เป็นไขมันในเลือดทั้งสิ้น โดยมีความแตกต่างกัน ดังนี้

1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) คือ สารประกอบไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเป็นสารตั้งต้นผลิตฮอร์โมนบางชนิด และเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
  • High-Density Lipoprotein หรือ (HDL) เป็นไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ
  • Low-Density Lipoprotein หรือ (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดี ที่มาจากไขมันสัตว์ หากมีมากจะไปสะสมตามผนังของหลอดเลือด ทำให้ตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก และหลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่นไป และเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตัน
2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ก็เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจากน้ำตาลและแป้ง หรือจากอาหารที่ร่างกายได้รับ ซึ่งหากมีในปริมาณที่มากเกินไปก็ก่อให้เกิดโรคได้เช่นกัน



กิน (ให้) ดี ก็ไม่มีความเสี่ยง
ถึงแม้ว่า “ไขมันในเลือด” จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันในเลือดสูงไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว ซึ่งเรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ได้ แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการกินอาหาร ซึ่งนอกเหนือจากอาหาร 5 หมู่ที่ใครก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าควรกินให้ครบ ก็ยังมีอีก 5 อย่างนี้ที่ต้องเอาปากกามาวงไว้เลยว่าควรกินในปริมาณที่เหมาะสมด้วย 
  • ดาร์กช็อกโกแลต เพราะสามารถช่วยลดการก่อตัวของโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในเลือดได้
  • ไวน์แดง ที่นอกจากจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในร่างกายแล้ว ยังให้ประโยชน์จากองุ่นเช่นเดียวกับอาหารเสริมที่สกัดจากองุ่น แต่ต้องระวังอย่าจิบเพลินจนเมาซะล่ะ
  • ปลาไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ที่มีส่วนช่วยให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือด และระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง
  • ถั่ว เพราะอุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด
  • มะเขือยาว ซึ่งจะยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลผ่านผนังลำไส้ได้

นอกเหนือจากอาหารการกินที่ต้องระมัดระวัง การตรวจสุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ได้รู้ว่าตอนนี้ระดับไขมันในเลือดของคุณ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องเลี่ยง (ไขมัน) แล้วหรือยัง

สนใจ แพ็คเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->