ไขข้อสงสัย...ทำไมยาแก้ปวด แก้อักเสบ ต้องกินหลังอาหารทันที
เคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมยาบางชนิดกินก่อนอาหาร บางชนิดระบุว่าต้องกินหลังอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบ หน้าซองยามักจะถูกเน้นย้ำว่าต้องกินหลังอาหาร “ทันที” หรือที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า รีบกินยาหลังอาหารนะ เดี๋ยวยากัดกระเพาะ วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่าทำไมยาถึงกัดกระเพาะได้
ยาแก้ปวดคืออะไร?
ข้อมูลจาก ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล บอกว่า ยาแก้ปวด (NSAIDs) เป็นยาที่ช่วย ลดอาการปวดและบวม โดยต้านการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อที่เราได้รับการบาดเจ็บ เช่น การปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ เป็นต้น ตัวอย่างยาแก้ปวดที่ส่งผลต่อกระเพาะอาหาร เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีฟีนาเมท (Mefenamate) หรือ พอนสแตน (Ponstan)
ทำไมยาพวกนี้ถึงไม่อ่อนโยนกับกระเพาะเรา
ต้องเข้าใจก่อนว่ากระเพาะเรามีสภาพเป็นกรดอยู่แล้วเพื่อช่วยย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งโดยปกติแล้วกระเพาะเราจะสร้างเมือกที่มีฤทธิ์เป็นด่างขึ้นมาเพื่อเคลือบเยื่อบุกระเพาะของเราไว้ ไม่ให้ถูกกรดในกระเพาะทำลาย แต่ยาแก้ปวดที่เรากินเข้าไปนั้นมันจะเข้าไปยับยั้งการสร้างเมือกในกระเพาะอาหารของเรา พอกระเพาะถูกยับยั้งการสร้างเมือก เยื่อบุกระเพาะก็จะโดนกรดทำลาย ใครที่กินยาแก้ปวด แก้อักเสบเป็นประจำ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแสบร้อนที่ลิ้นปี คลื่นไส้อาเจียน กระเพาะเป็นแผล มีเลือดออก
นี่แหละคือสาเหตุว่าทำไมเราถึงต้องกินยาพวกนี้หลังอาหารทันที นอกจากนี้ยาในกลุ่มแก้ปวด ลดการอักเสบยังไม่ควรกินหลายๆ ตัวพร้อมกันอีกด้วยและที่สำคัญที่สุดคือควรกินยาตามที่หมอสั่งเท่านั้น
รู้แบบนี้แล้วเวลาไปหาหมอแล้วได้ยามากิน เราควรปฏิบัติตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะว่ายาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงต่อร่างกายเราแตกต่างกันไป ถ้าไม่ปฏิบัติตาม จากที่เราจะหายดีอาจจะได้โรคอื่นมาเพิ่มก็ได้นะ