โรค ‘Atelophobia’ คืออะไร ทำไมเราถึงกลัวตัวเองดีไม่พอ
เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่มนุษย์อย่างเราๆ จะโหยหาความสมบูรณ์แบบในทุกๆ จังหวะของชีวิต แต่แน่นอนว่าความรู้สึกนั้น ก็มักจะมาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงลิ่ว ซึ่งบางทีถ้ามีมากเกินไป ก็อาจจะมีผลเสียตามมาได้จากผลสำรวจของ Cigna 360 Well-Being Survey เมื่อปี 2019 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเครียดสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก จากการสำรวจใน 23 ประเทศ ซึ่งแม้ว่าความเครียดส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มคนวัยทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีแค่เรื่องงานเท่านั้นที่เป็นต้นเหตุของความเครียด คนวัยนี้ยังต้องปวดหัวกับทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว สังคม ไปจนถึงเป้าหมายของชีวิต โดยความเครียดที่ว่านี้ บางครั้งก็มาในรูปของความคาดหวังที่จะเมเนจทุกอย่างให้ออกมาเพอร์เฟคอย่างที่ใจนึก จนนำไปสู่ความวิตกกังวล หดหู่ และอาการกลัวว่าตัวเองจะดีไม่พอ หรือโรค Atelophobia โดยไม่รู้ตัวในที่สุด
Atelophobia ดีแค่ไหนถึงจะพอ ?
Atelophobia คือภาวะที่เครียดและกดดัน จากความวิตกกังวลที่ว่าตัวเองยังทำสิ่งต่างๆ ได้ดีไม่พอ กลัวความไม่สมบูรณ์แบบ และกลัวความล้มเหลวอย่างหาสาเหตุผลไม่ได้ จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน คนที่มีภาวะนี้ จะคิดถึงแต่ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนบางครั้งทำให้ไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเลย และถือคติว่าการอยู่นิ่งๆ อาจจะยังดีซะกว่าต้องลงมือ (หรือลงใจ) ทำอะไรสักอย่างให้มันเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา จะเรียกว่าเป็นมายเซ็ทแบบ 0 มีค่ากว่า -1 ก็ได้ ซึ่งการกลัวความผิดพลาดหรือกลัวว่าตัวเองจะดีไม่พอนี้ มีพื้นฐานมาจากการความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว และมีความคิดว่าตัวเองจะทำได้ดีไม่พอและไม่มีทางไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น หรือบางทีอาจจะทำได้ดีแล้ว แต่ก็คิดว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดีอยู่ดี
Dr. Menije Boduryan-Turner นักจิตวิทยาจากลอสแองเจลีส แคลิฟอร์เนีย อธิบายอาการของโรค Atelophobia หลักๆ ไว้ว่า มักจะกลัวข้อบกพร่อง จนในบางครั้งทำให้ไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไร ชอบหลีกเลี่ยงสถานการณ์อะไรก็ตามที่อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะกลัวผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่เป็นไปอย่างที่หวัง และกำหนดมาตรฐานไว้สูงเกินไป จนคอยจะแต่มองหาข้อบกพร่องในสิ่งที่ทำ ทั้งที่จริงๆ อาจจะดีอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งนอกเหนือจากเหล่านี้ ก็ยังมีอาการทางกายภาพที่สามารถสังเกตได้คือ หายใจถี่และเร็ว กล้ามเนื้อตึง ปวดหัว และปวดท้อง โดยในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจจะมาจากประสบการณ์หรือเรื่องฝังใจในวัยเด็ก การเลี้ยงดูต่างๆ ไปจนถึงสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่อาจจะส่งเสริมให้มีความเครียดและกดดัน
หากใครกำลังอยู่ในสภาวะหรืออาการทำนองนี้อยู่ อย่าได้นิ่งนอนใจไปนะ เพราะถ้าทิ้งไว้นานๆ Atelophobia ส่งผลกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจได้มากพอสมควร ทางที่ดีควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อร่วมกันหาทางออก ก่อนที่จะกลายเป็นโรคเครียดและซึมเศร้าในที่สุด