แอลกอฮอล์ vs มะเร็งเต้านม เกี่ยวกันอย่างไร

สายดริ้งก์สายดื่มก่อนจะชนแก้วครั้งหน้าอย่าลืมนะว่า ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมการวิจัยเพื่อการป้องกันโรคมะเร็งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Institute for Cancer Research) และกองทุนโลกเพื่อการวิจัยด้านมะเร็ง (World Cancer Research Fund) โดย Dr. Anne McTiernan หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านมะเร็ง Fred Hutchinson ในซีแอทเทิล ได้ออกมาเปิดเผยถึงว่าการดื่มไวน์ 1 แก้วเล็ก หรือ เบียร์ 240 ม.ล. หรือ สุรา 30 ม.ล. จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน และหลังหมดประจำเดือนถึง 5% และ 9% ได้เลยทีเดียว



แอลกอฮอล์ส่งผลต่อ (มะเร็ง) เต้านมอย่างไร
ตัวการที่ทำให้แอลกอฮอล์ส่งผลต่อมะเร็งเต้านมนั้น เป็นเพราะสาร acetaldehyde ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลำดับดีเอ็นเอ นำไปสู่การเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ โดยมีการศึกษาพบว่าสาวๆ ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ดริ้งค์ ต่อสัปดาห์ ซึ่งคิดเป็นเบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือ วิสกี้เพียวๆ 1.5 ออนซ์ต่อ 1 ดริ้งก์ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมถึง 15%  เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ดื่ม ยิ่งไปกว่านั้นการดื่มในปริมาณที่มากขึ้นทุกๆ 10 กรัม จะทำให้เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม เพิ่มขึ้นอีก 7% เลยทีเดียว และยิ่งถ้าพ่วงตำแหน่งสาวเจ้าเนื้อด้วยแล้วล่ะก็บอกเลยว่าท่าจะไม่ดีซะแล้ว เพราะนอกเหนือจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีอีกหลายผลการศึกษาวิจัยที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโรคอ้วน หรือผู้หญิงที่มีไขมันสูง...ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วยเหมือนกัน



เพราะแค่เป็นหญิงก็เสี่ยงแล้ว
“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” ดูจะเป็นเรื่องจริง เพราะได้มีผลการวิจัยหลายๆ ชิ้นงานยืนยันว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนของสาวๆ มีความเกี่ยวข้องกับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้
  • ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังจากอายุ 55 ปี
  • ผู้หญิงที่ยังไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปีไปแล้ว
  • ผู้หญิงที่มีรอบเดือนสั้นหรือยาวกว่าค่าเฉลี่ย 26 - 29 วัน
  • ผู้หญิงที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือน ติดต่อกันนานมากกว่า 5 ปี
นี่แค่ว่าเป็นผู้หญิงก็เสี่ยงแล้ว แบบนี้สายดริ้งก์ “ยิ่ง” ต้องระวัง (มะเร็ง) เต้านม

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก! 
-->